จรรยาบรรณของวิชาชีพสอบบัญชี
จรรยาบรรณของวิชาชีพสอบบัญชี (Professional Ethics) หมายถึง สิ่งที่กำหนดความประพฤติหรือวิธีปฏิบัติงานที่ผู้ประกอบวิชาชีพสอบบัญชี (หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาต) ทุกคนต้องยึดถือ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเชื่อมั่นจากผู้รับบริการ ความเชื่อถือได้ในผลงาน ความเป็นมืออาชีพ คุณภาพของงานบริการ และเสริมสร้างเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพสอบบัญชีให้เป็นที่ประจักษ์แก่ลูกค้าและสาธารณชนที่จะเชื่อถือและไว้วางใจในผลงานของผู้ประกอบวิชาชีพสอบบัญชี
จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี จรรยาบรรณของวิชาชีพสอบบัญชีของประเทศไทย มีชื่อเรียกว่า "จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี" พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ได้กำหนดให้สภาวิชาชีพบัญชีจัดทำจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีขึ้นเป็นภาษาไทยและอย่างน้อยต้อง ประกอบด้วย 4 ข้อกำหนด ดังนี้
1. ความโปร่งใส ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต
2. ความรู้ความสามารถและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน
3. ความรับผิดชอบต่อผู้รับบริการและการรักษาความลับ
4. ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบุคคลหรือนิติบุคคลที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีปฏิบัติหน้าที่ให้
เมื่อปี พ ศ.2553 สภาวิชาชีพบัญชีได้ออกข้อบังคับ (ฉบับที่ 19) เรื่องจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี เพื่อใช้บังคับกับสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี (ทั้ง 6 ด้าน) ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชี หัวหน้าคณะบุคคลหรือหัวหน้าสำนักงานหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ซึ่งรวมถึงผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและผู้ทำบัญชีเมื่อปี พ.ศ. 2561 สภาวิชาชีพได้ออกข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2561 ให้ยกเลิกข้อบังคับ (ฉบับที่ 19) เดิม เพื่อใช้ในการควบคุมความประพฤติและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีหรือผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชี (รายละเอียดศึกษาเพิ่มเติมได้ในภาคผนวกที่ 4 และwww.fac.or.h) ข้อบังคับนี้มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ
2. หลักการพื้นฐานของจรรยาบรรณมี 6 หลักการ ดังนี้
2.1 ความซื่อสัตย์สุจริต
2.2 ความเที่ยงธรรมและความเป็นอิสระ
2.3 ความรู้ ความสามารถ ความเอาใจใส่ และการรักษามาตรฐานในการปฏิบัติงาน
2.4 การรักษาความลับ
2.5 พฤติกรรมทางวิชาชีพ
2.6 ความโปร่งใส
3. กรอบแนวคิดในการนำหลักการพื้นฐานไปปฏิบัติ เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติงานภายใต้เหตุการณ์แวดล้อมและความสัมพันธ์อันหลากหลาย อาจก่อให้เกิดอุปสรรคในการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานกรอบแนวคิด มี 3 ขั้นตอน ดังนี้
3.1 ระบุอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐาน ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีควรพิจารณา อุปสรรคนั้นกิดจากกรณีใดกรณีหนึ่ง หรือหลายกรณีต่อไปนี้
1) ผลประโยชน์ส่วนตน
2) การสอบทานผลงานตนเอง
3) การเป็นผู้ให้การสนับสนุน
4) ความคุ้นเคย
5) การถูกข่มขู่
3.2 ประเมินนัยสำคัญของอุปสรรคที่ได้ระบุไว้ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจใช้วิธีการที่ดีที่สุดเพื่อจัดการกับอุปสรรคให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยใช้มาตรการป้องกันเพื่อขจัดหรือลดอุปสรรค หรือยุติ หรือลาออก หรือปฏิเสธการให้บริการที่เกี่ยวข้อง
3.3 ใช้มาตรการป้องกันที่จำเป็นเพื่อขจัดหรือลดอุปสรรคนั้น ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้
1) มาตรการป้องกันที่กำหนดโดยองค์กรวิชาชีพ กฎหมาย หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
2) มาตรการป้องกันที่จัดให้มีขึ้นในสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงาน
4. ข้อยุติเกี่ยวกับความขัดแย้งทางจรรยาบรรณ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีอาจจำเป็นต้องได้ข้อยุติ เมื่อมีข้อขัดแย้งในการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานของจรรยาบรรณ ให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีดำเนินการตามลำดับ ดังนี้
1) พิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
2) กำหนดทางเลือกปฏิบัติที่เหมาะสม
3) ให้น้ำหนักผลกระทบของทางเลือกแต่ละทาง
4) ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด
หากข้อขัดแย้งทางจรรยาบรรณยังไม่ได้ข้อยุติ ให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีดำเนินการตามลำดับดังนี้ เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือในการหาข้อยุติดังกล่าว
1) ขอคำปรึกษาจากบุคคลอื่นที่เหมาะสมในสำนักงาน หรือองค์กรผู้ว่าจ้าง
2) ขอคำปรึกษาจากผู้มีหน้าที่กำกับดูแลขององค์กร เช่น คณะกรรมการบริษัทหรือคณะกรรมการตรวจสอบ เมื่อเรื่องนั้นเป็นข้อขัดแย้งกับองค์กร หรือภายในองค์กร
3) ขอคำปรึกษาทางวิชาชีพจากองค์กรทางวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง หรือที่ปรึกษากฎหมาย โดยไม่ละเมิดหลักการพื้นฐานว่าด้วยการรักษาความลับ
4) ถ้ายังไม่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับข้อขัดแย้งทางจรรยาบรรณ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีควรดำเนินการ ดังนี้
4.1) ปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งนั้น
4.2) ขอถอนตัวจากกลุ่มผู้ปฏิบัติงานหรือจากงานที่ได้รับมอบหมายเป็นการเฉพาะ
4.3) ลาออกจากงานที่ได้รับมอบหมายนั้นโดยสิ้นเชิง
4.4) ลาออกจากสำนักงาน หรือจากองค์กรผู้ว่าจ้าง
กระบวนการของจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 หมวด 7 จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี (มาตรา 46 - มาตรา 58) ได้กำหนดกระบวนการของจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีไว้ ดังนี้
(1) ให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม (มาตรา 50) และมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี ดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้ (มาตรา 51) พ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือด้วยเหตุอื่น ได้แก่ ตาย ลาออก ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือที่ประชุมใหญ่ สภาวิชาชีพบัญชีมีมติให้ออก (มาตรา 52)
(2) เมื่อเกิดการกล่าวหาว่าผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณ ให้คณะกรรมการจรรยาบรรณดำเนินการสอบสวนพิจารณาโดยเร็ว (มาตรา 53)
(3) การพิจารณาเรื่องจรรยาบรรณ คณะกรรมการจรรยาบรรณอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการแทนก็ได้ มีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือส่งบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานใด เพื่อตรวจสอบ หรือประกอบการพิจารณาเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนก็ได้ (มาตรา 53 วรรคสี่และวรรคห้า)
(4) การสั่งลงโทษหรือการสั่งยกคำกล่าวหา เมื่อคณะกรรมการจรรยาบรรณพิจารณาผลการสอบสวนแล้วมีมติ ดังนี้
(4.1) ผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณ ให้มีคำสั่งลงโทษผู้นั้น
(4.2) ผู้ถูกกล่าวหามิได้ประพฤติผิดจรรยาบรรณ ให้สั่งยกคำกล่าวหา (มาตรา 54)
(5) สิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูกคณะกรรมการจรรยาบรรณสั่งลงโทษมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการจรรยาบรรณดังกล่าวต่อคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (มาตรา 55)