ค่ารับรอง ค่าใช้จ่ายที่มีขีดจำกัด
กรณีที่บริษัทพาลูกจ้างไปกินเลี้ยงสังสรรค์นั้น จะถือเป็นสวัสดิการพนักงาน ไม่ถือเป็นค่ารับรองแต่อย่างใด
เรามาดูว่าเงื่อนไขของค่ารับรองมีอะไรบ้าง
1. เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรอง ที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น
2. เป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรอง ไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรอง
3. จำนวนเงินค่ารับรอง ให้นำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนที่ต้องจ่ายจริง แต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินยอดรายได้ หรือ จำนวนเงินทุนจดทะเบียนที่ได้รับชำระ แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน ทั้งนี้รายจ่ายที่จะนำมาหักได้จะต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท คิดง่ายๆคือ 1,000,000 ละ 3,000 บาท
4. ค่ารับรองนั้น ต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติหรือสั่งจ่ายค่ารับรองนั้นด้วย และต้องมีใบรับหรือหลักฐานของผู้รับสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่ารับรองหรือเป็นค่าบริการเว้นแต่ในกรณีที่ผู้รับเงินไม่มีหน้าที่ต้องออกใบรับตามประมวลรัษฎากร
เมื่อเราดูมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า “ค่ารับรอง” เป็นรายจ่ายที่มีขอบเขตจำกัด ตามที่สรรพากรกำหนด ซึ่งถ้าหากกิจการได้มีการใช้ค่ารับรองเกินกว่าที่กำหนดไว้ ก็จะถูกนำมาบวกกลับเป็นรายได้ของกิจการ และต้องนำมารวมคำนวณภาษีทำให้มีภาษีที่เสียเพิ่มขึ้น ดังนั้นเจ้าของกิจการควรระมัดระวังการใช้จ่ายค่ารับรองให้มากขึ้น แต่กลับกันมักมีเจ้าของกิจการที่ไม่กล้านำค่ารับรองมาใช้เลยเพราะกว่าว่าจะถูกบวกกลับ แต่หากกิจการไม่ใช้เลยก็อาจทำให้กิจการเสียสิทธิที่จะนำค่ารับรองมาเป็นรายจ่ายกิจการ และในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะไม่สามารถนำมาเป็นภาษีซื้อของกิจการได้ เนื่องจากภาษีซื้อจากค่ารับรองถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม