SMEsAcademy-FB
รับส่วนลด 300 บาทสำหรับการซื้อครั้งแรก

เรื่องเล่า เจ้าของธุรกิจเทียนหอมในภาชนะเบญจรงค์

24 กุมภาพันธ์ 2564
เรื่องเล่า เจ้าของธุรกิจเทียนหอมในภาชนะเบญจรงค์

เรื่องเล่า เจ้าของธุรกิจเทียนหอมในภาชนะเบญจรงค์


นางสาวฐาณิญา เจนธุระกิจ  (แม็ทช์

“แมทช์เป็นลูกคนเดียว คุณแม่ของแมทช์ก็เป็นลูกคนเดียว”

แล้วก็ยิ้มหวาน เป็นความหวานของรอยยิ้มที่เหมาะเจาะกับ Fusion Ceramic เซรามิกที่บรรจงเขียนลายบนภาชนะดินเผาแบบสมัยใหม่ ไม่มากไป ไม่น้อยไป แถมมีความสามารถหลากหลายซ่อนอยู่ใต้ความสวยงามนั้น


 

ฐาณิญา (Thaniya) เป็นเทียนหอมในภาชนะเบญจรงค์ที่ไม่ใช่แค่เทียนหอม ซึ่งตัวเธอเองนิยามสินค้าชนิดนี้ว่าเป็น Fusion Ceramic หมายถึงเครื่องหอมและของตกแต่งบ้านสมัยใหม่ ที่มีลวดลายเก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร เขียนด้วยมือทุกชิ้น โดยการนำเอาลายไทยๆอย่างเช่น ผ้ามัดหมี่ มาเขียนใหม่แบบ Monotone ลงบนเซรามิครูปทรงโมเดิร์นทันเทรนมินิมอลในยุคนี้ นอกจากนี้ตัวเทียนเองนอกจากจะให้กลิ่นหอมผ่อนคลายและแสงสว่างอันอบอุ่นแล้ว ยังคัดสรรวัตถุดิบดีๆที่ผลิตมาจากถั่วเหลือง โดยคุณสมบัติของเทียนนั้นเมื่อหลอมเหลวสามารถแตะขึ้นมานวดผิวเพื่อให้ผิวชุ่มชื้น บำรุงผิวให้สุขภาพดีอีกต่างหาก นับว่าเป็นสินค้าที่สะท้อนภาพตัวเจ้าของแบรนด์ออกมาได้ชัดเจนมากๆทีเดียว

 

“แมทช์จบวิศวะมาค่ะ” นี่ไง ใต้คิ้วที่โก่งงอน หน้าตาสะสวย เสื้อผ้าเนี๊ยบเรียบร้อยอย่างคุณหนูแบบนี้

 

“อะไรทำให้แมทช์กลับมาช่วยคุณแม่ได้คะ”

“แมทช์เรียบจบแล้วไปทำงานข้างนอกมาซักพักนึงค่ะ เคยคิดว่าจะเติบโตในสายอาชีพนี้ แล้ววันนึงก็คิดว่าเราน่าจะกลับมาช่วยคุณแม่ เพราะว่าท่านก็อายุเยอะแล้ว แม่ก็มีแค่แมทช์คนเดียว ที่จริง เรียนวิศวะอุตสาห

การตอนแรกก็เพราะเราเองก็อยากกลับมาบริหารโรงงานของเรา วิศวอุตสาหการสอนทั้งเรื่องการผลิตและการบริหาร ควบคู่กัน ทำให้เรามองเห็นภาพมากกว่า ก็เลยคิดว่าน่าจะช่วยงานที่บ้านได้”

 

“คุณแม่กับแมทช์อายุห่างกันกี่ปี?”

“36 ปี สามรอบพอดีค่ะ” 

“โห อายุต่างกันเยอะขนาดนี้ เวลาทำงาน ความคิดเห็นไม่ต่างกันมากเลยเหรอ”

“แรกๆมีบ้างค่ะ แต่บ้านแมทช์ดีตรงที่ว่าเราจะคุยกันด้วยเหตุผล คือจะถามก่อนว่าเพราะอะไร ยังไงถึงคิดแบบนี้ แล้วถ้ามีใครทำพลาดก็จะไม่เบลมนะ คุยกันไว้ตั้งแต่ต้น อย่างถ้าแมทช์ทำพลาด คือคุณแม่ก็รู้ว่าเราเองทำดีที่สุดในทุกๆครั้ง แมทช์เองก็เสียใจมากอยู่แล้ว แม่ก็จะไม่ดุซ้ำ แค่จะถามว่ารู้ใช่มั้ยว่ามันผิดนะ ถ้าเข้าใจก็โอเค

ส่วนเวลาที่มี 2 ความเห็นที่ไม่ตรงกัน บางทีเราก็ไม่ต้องสรุปหรอก แมทช์ว่าให้ลูกค้าเป็นคนตัดสิน คุณแม่อยากออกแบบแบบนี้ แม็ทช์อยากออกแบบแบบนั้น ก็ลองทำดูทั้งสองแบบเลย ว่าแบบไหนเป็นแบบที่ลูกค้าชื่นชอบบ้าง 

แล้วเวลาทำงานนี่แมทช์ก็ขอคุณแม่ว่า ถ้าแมทช์สั่งอะไรไปแล้วแม่อย่าไปเปลี่ยนนะ เราควรจะตกลงกันก่อนสั่งงานลูกน้อง ไม่งั้นก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ลูกน้องก็ไม่รู้จะฟังใครดี”

 

“ตอนแมทช์กลับมาช่วยที่บ้านนี่ ทำอะไรก่อนเป็นอย่างแรก”

“แม็ทช์เริ่มทำแบรนด์ก่อนเลย คิดมานานมากว่าเราอยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง ก็เลยเอาชื่อเรานี่แหละ เมื่อก่อนมีแต่โรงงาน ผลิตเครื่องหอมส่งเข้าโรงแรม ส่งแบรนด์อื่น ส่งร้านสปาอะไรแบบนี้ สินค้าเราดีอยู่แล้ว  แม็ทช์มาถึงก็เริ่มทำแบรนด์ และเปิดหน้าร้านในห้างก่อน ปีแรกก็เริ่มสาขาแรก สาขาที่ 2 แล้วก็ขยายจุดจำหน่ายสินค้า แล้ว 3, 4, 5, 6, 7 ก็ตามมาเป็นกระบวนเลย

หน้าร้านนี้ก็เหมือนกันนะ ที่มีเยอะเพราะบางทีแม่อยากเปิดตรงนั้น แมทช์อยากเปิดตรงนี้ เราก็เปิดมันสองที่แหละ ลองดูผลตอบรับ ตอนแรกแมทช์ก็คิดว่าจะดีหรอ เปิดๆปิดๆ แต่ที่จริงมันไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น ดีก็ทำต่อ ไม่ดีก็ย้าย เราต้องยอมรับและอยู่กับปัจจุบัน”

 

“ทำยังไงคุณแม่ถึงยอมรับในตัวแมทช์ ให้แมทช์ดูแลเต็มตัว ต้องใช้เวลานานมั้ย?”

“โห ก็นานอยู่นะ แม็ทช์ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองหลายอย่างเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกับคุณแม่ กับพี่ๆในโรงงาน ที่อยู่กันมาตั้งแต่คุณแม่ยังไม่แต่งงาน อยู่ด้วยกันยิ่งกว่าครอบครัวอีก เริ่มทำแบรนด์จากหนึ่งมาสองมาสาม เริ่มมาการตลาด แล้วค่อยมาดูการผลิต คุณแม่ถึงค่อยๆไว้ใจเรามากขึ้น” 

 

“อะไรที่แมทช์คิดว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของการเข้ามารับช่วงกิจการของแม่”

“เรื่องคนอ่ะ ต้องยอมรับว่าแรกแม็ทช์เองเป็นคนใจร้อน ออกจะเพอร์เฟคชั่นนิสต์ นิดนึง อะไรไม่ได้ดั่งใจก็ไม่ค่อยยอม พี่ๆในโรงงานเนี่ยหลายๆคนอยู่กับคุณแม่กับเรามานานมาก พี่หลายคนช่วยเลี้ยงแม็ทช์ด้วยนะ อุ้มแม็ทช์มาตอนเด็กๆ เลี้ยงกันมา เห็นกันจนโต พอเราเข้ามาทำงาน ด้วยความที่ใจร้อน พออะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ ก็มีกระทบกระทั่ง จนลืมไปว่าอยู่กันเป็นครอบครัวไง งานของแม็ทช์เป็นงานอาร์ต ต้องใช้ช่างฝีมือ เป็นงานที่ต้องใช้ความรู้สึก ความพิถีพิถันอย่างสูง บางคนพออยู่ๆไป ก็เริ่มว่าแม็ทช์เอาแต่ใจ เพราะเราจริงจังกับงาน เวลาทำงานกับตอนที่เค้าเลี้ยงเรามา ตอนเด็กๆมันไม่เหมือนกัน แล้วแม็ทช์ก็เริ่มลงระบบ เริ่มอยากให้เข้าระบบ เริ่มมีการวัดการผลิต แต่ก่อนคุณแม่เป็นคนใจดี แค่พยายามประคองให้รอดก็ยอมๆเลี้ยงๆกันมา แต่พอเราทำแบรนด์ เราขยาย เราต้องมีระบบ ไม่งั้นเราจะโตได้ยังไง เราก็เริ่มเอาระบบมาลง คราวนี้พี่ๆก็มีออกกันเลย”

“ไม่เศร้าหรอ”

“เศร้ามากเลยแหละ คุณแม่นี่ร้องไห้เลย บอกนี่คนนี้เลี้ยงแม็ทช์มานะ...

แต่คุณแม่ก็เข้าใจ ว่าโรงงานก็ต้องเป็นระบบ ทุกอย่างก็ต้องเดินหน้า เราก็เลยต้องทำใจ แต่จากกันด้วยดีนะ ไม่ได้ทะเลาะกันเลย เค้าก็เข้าใจแล้วก็ยอมรับว่าเค้าทำไม่ได้ เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีการ เพื่อให้แบรนด์เราโตขึ้น ก็ต้องช่วยกันทุกคน”

 

“แมทช์มี passion อย่างอื่นมั้ย”

“แมทช์ชอบงานที่ทำอยู่ตอนนี้นะ อยากให้เค้าโต อยากให้เค้าประสบความสำเร็จตามที่เราวางแผน แมทช์อยากให้งานของแมทช์เป็นที่จดจำของชาวต่างชาติ อยากให้ทุกคนชื่นชอบงานของเรา”

“ในหนึ่งวันแมทช์ทำอะไรบ้าง”

“ตื่นมาเช็คยอดของก่อนเลย แล้วก็ค่อยทำงานอื่นๆต่อ ก็มีไปหาผู้ใหญ่ ไปพบลูกค้า ออกแบบ ตรวจงานหน้าร้าน ไปจัดร้าน ถ้าวันไหนวันรุ่งขึ้นมีงานแสดงสินค้าตอนดึกๆก็มีจัดหน้าร้าน หรือช่วงงานยุ่งนี่ต้องเข้าไปดู ไปจัดเองกับพี่ๆที่โรงงาน นอนไม่เป็นเวลาเป็นประจำเลย”

 

“เคยสุขภาพแย่ ร่างกายแย่จนทำงานไม่ได้มั้ย”

“เคย ครั้งนึงตอนอยู่โรงงานมีน้องพนักงานผู้ชายยกของลังเบ้อเร่อมา แล้วยังไงไม่รู้คือหนักมั้งเลยจะปล่อยมือ เราก็ทนไม่ได้วิ่งเข้าไปรับ รับแบบช้อนข้างล่างอ่ะ ของก็ไม่แตกเลยนะ ทุกชิ้นอยู่สภาพดี แต่...” 

          “แต่?…”

“แต่กล้ามเนื้อหลังเราฉีกแทน ด้วยความที่เราเป็นเจ้าของไง เรากลัวของเสียหาย เงินทั้งนั้น ก็พยายามให้ทุกสิ่งดีที่สุด กลายเป็นต้องทำให้ทุกคนเป็นห่วงแทนเลย” 

 

“สุดท้าย มีอะไรอยากแนะนำคนที่กำลังจะเข้ามารับช่วงกิจการมั้ย?”

“ก็อยากให้มีความอดทน จริงๆนะ หลายๆคนบอกว่าการทำสิ่งที่เรารักจะประสบความสำเร็จ แม็ทช์ว่ามันก็ใช่ส่วนหนึ่งนะ เพราะ การทำในสิ่งที่เรารักทำให้เรามี ความอดทนความพยายามมากขึ้น แม็ทช์ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ การทำธุรกิจส่วนตัวมันเหนื่อยเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ต้องใช้ความอดทนอย่างสูงจึงจะประสบความสำเร็จได้ค่ะ”


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “ฉันนี่แหละลูกเถ้าแก่”

ข้อคิดและบทสรุปจากการสัมภาษณ์ทายาทธุรกิจ โดย พราวพร

Facebook : thaniya1988, LINE : @THANIYA1988, www.thaniya1988.com


บทความที่คล้ายกัน