SMEsAcademy-FB
รับส่วนลด 300 บาทสำหรับการซื้อครั้งแรก

เรื่องเล่า ครูเป๊ก บ้านทองหยอด

13 กรกฎาคม 2564
เรื่องเล่า ครูเป๊ก บ้านทองหยอด

เรื่องเล่า ครูเป๊ก บ้านทองหยอด

มาทำงานนี่ รู้สึกว่าโรงงานกินความเป็นตัวตนของเราไปไหม?

“กิน แต่ถ้าไม่โดนกินก็ไม่เจริญรุ่งเรือง ไม่เติบโตสิ”

ครูเป๊ก บ้านทองหยอด


ด้วยความกลมของโลก ทำให้เราได้เดินทางมาถึงโรงงานฝอยทองที่ได้มาตรฐานขนาดใหญ่ที่สุดแห่งแรก และแห่งเดียวของประเทศไทยในตอนนี้ ซึ่งเจ้าของเป็นครูสอนแบดมินตันสมัยเด็กๆ สมัยน้องเมย์-รัชนกยังเล็กๆ ใช่แล้วค่ะ วันนี้เราอยู่ที่โรงงานบ้านทองหยอดนั่นเอง


มาทำงานที่บ้านได้ยังไงคะ

ตอนแรกครอบครัวก็ทำขนมหวานมาตั้งแต่พวกพี่ยังเด็กๆ ทำขนมหลังบ้านในหมู่บ้าน แล้วแม่ก็แยกตัวออกมาทำสนามแบดมินตัน ส่วนคุณพ่อก็ทำขนมหวานต่อ ตอนที่เรียนปี 3 พี่ก็เริ่มอยากหาเงินใช้เอง เพราะว่าเวลาจะซื้ออะไรจะได้ไม่ต้องขอพ่อแม่ ก็เริ่มสอนแบด ตอนนั้นอยู่ทีมชาติด้วย ทั้งพี่และพี่ชายเลย อยู่ทีมชาติทั้งสองคน พี่ชายพี่นี่จะเป็นมือหนึ่งเลย พี่ก็รองจากพี่ชายมา 

 

ช่วงนั้นใครๆก็อยากให้เราสอน ก็ทีมชาติเนอะ สอนไปก็เริ่มมีเงินใช้ของตัวเอง จนวันนึงสอน 10 ชั่วโมงติดต่อกัน สอนจนแบบระหว่างชั่วโมงนี่ผู้ปกครองต้องเอาน้ำ เอาขนมมาให้กิน เพราะไม่ได้พักเลย พี่ก็เลยมานั่งคิดว่า แบบนี้ไม่ไหวละนะ แก่ตัวลงก็คงสอนเป็นสิบๆชั่วโมงไม่ไหวแน่ ก็เลยเริ่มมามองเรื่องการทำขนมหวาน

 

ตั้งแต่เล็กๆมา พ่อกับแม่ก็มองว่าพี่มีน่าจะมีความถนัดด้านนี้มากที่สุดในพี่น้องทั้ง 3 คน ประกอบกับเรื่องตีแบดพี่ชายก็เก่งกว่าด้วย พ่อกับแม่ก็เลยให้พี่ชายดูแลธุรกิจแบดมินตันต่อ ส่วนพี่ก็มารับโรงงานขนมหวาน แล้วน้องสาวก็ได้ที่ดินไปเป็นมรดกแทน


พี่เรียนอะไรมาคะ มาทำงานได้กี่ปีแล้ว

จบมาร์เก็ตติ้งมา ก็ค่อนข้างตรงสายนะ พอมาทำงานก็ค่อยๆเรียนรู้อย่างอื่นไป เรื่องการผลิตการทำขนม เมื่อก่อนคุณแม่นี่จะดูเรื่องตลาด ส่วนคุณพ่อจะเก่งเรื่องเครื่อง เครื่องจักรในโรงงานนี่คุณพ่อทำเองหมดนะ ออกแบบเองสร้างเอง ก็จะได้เครื่องที่เหมาะกับเราจริงๆ ทำงานมาก็ตั้งแต่เรียนจบ วันที่มองว่าสอนแบดอย่างเดียวไม่น่าจะไหว แล้วตอนนั้นไม่รู้ยังไง พอคุณแม่แยกออกไปทำสนามแบด ลูกค้าก็ลดลง คนงานก็ลดลง เหลือ 10 กว่าคน ลูกค้ามีอยู่แค่ 4 เจ้าเอง

 

ตอนนั้นรู้สึกว่าพ่ออยู่มาถึงจุดที่ว่า ละกิเลสหมดแล้ว ไม่ได้อยากได้อะไร ลูกก็โตหมดแล้ว เดิมๆนี่ก็ทำไปเรื่อยๆพ่อก็อยู่ได้ไง แต่พอเรากลับมามองแล้วก็แบบ เฮ้ย มันไม่ได้ เรายังอยากได้โน่นนั่นนี่ ก็เลยทำงานเต็มที่ เพื่อที่จะได้อะไรตามที่เรามุ่งหวัง และทำให้พ่อแม่ภูมิใจ ต่อจากนั้น ก็เจอกับภรรยา แต่งงานแล้วก็มีลูก เลยมีเป้าหมายในการทำงานมากยิ่งขึ้น


โรงงานอยู่ที่นี่ตั้งแต่แรกเลยไหม

ไม่ใช่ เมื่อก่อนทำกันอยู่หลังบ้านเลย ในหมู่บ้าน ที่นี่เพิ่งมาสร้างเมื่อ 2-3 ปีนี่เอง ตอนนั้นที่จะสร้างก็ตัดสินใจอยู่นานเหมือนกัน ไปปรึกษาผู้ใหญ่ผู้มีประสบการณ์มาเยอะเลย ก่อนจะตัดสินใจลงทุน เพื่อให้ได้โรงงานที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน GMP อะไรต่างๆ มันเป็นใบเบิกทางเลยนะ ถ้าคุณมีมาตรฐานรับรอง ของจะไปได้อีกหลายๆตลาดเลย ไม่ใช่แค่ตลาดสด สามารถขายอุตสาหกรรมได้ด้วย พี่ชอบอะไรเป็นแมส ทำมันส์ดี ผลิตเยอะๆสนุกมือเลย ฮ่าๆ 

 

(หลังจากที่พี่เค้าพาเดินดูโรงงานก็พบว่าแมสจริง ใครจะคิดว่าฝอยทองนี่ผลิตกันเป็นตันๆ มีไข่เป็นพันๆฟองเรียงรายรออยู่หน้าเครื่องตอกไข่ที่สูงท่วมหัว แถมมีทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุนที่ลอยตุ๊บป่องๆในน้ำเชื่อมเดือดปุดๆอยู่หลายสิบหม้อ แค่เครื่องหยิบทองหยิบนี่ก็ทำเอาเรายืนชื่นชมอยู่นานสองนาน หยิบเยอะขนาดต้องใช้เครื่องหยิบ คนหยิบไม่ทัน)


ทะเลาะกับคุณพ่อบ้างมั้ยคะ

บ้าง ก็ปกติธรรมดานะ หลายเรื่องก็ความเห็นไม่ตรงกัน บางเรื่องก็ด้วยประสบการณ์เค้าเยอะกว่า บางเรื่องก็ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป มุมมองหลายๆอย่างก็ไม่ตรงกันอยู่แล้ว ที่ทะเลาะแรงๆเลยก็มีสองครั้ง 

 

ครั้งแรกหลายปีมาแล้ว ตอนนั้นยังเด็ก ประสบการณ์ยังน้อย แต่อารมณ์แรง ไฟแรง อยากจะทำโน่นนั่นนี่เยอะแยะ ก็เห็นไม่ตรงกับพ่อ คุยกันไม่ลงตัว จนถึงขนาดที่พูดกับพ่อว่า พ่อ ขอเวลา 6 เดือน ถ้าผมทำไม่ได้ ก็จะไม่ทำละ เลิกเลย พ่อก็ทำของพ่อต่อละกัน

 

แล้วพ่อก็ยอม?

 

ใช่ ตกใจมากว่าพ่อยอม ใจแข็งมาก ปล่อยเลย ไม่มายุ่งเลย 6 เดือน ไม่เข้ามาทำ ไม่มาช่วยมาดูเลย แต่พี่ก็ลุยจริงจังเลยนะ ช่วงเทศกาลนี่เที่ยงคืนยังทำงานกับลูกน้องอยู่เลย แล้วก็รอดมาได้ สิ่งที่คิดในตอนนั้นสามารถพาโรงงานเดินต่อมาได้โดยไม่ล้ม หลังจากนั้นพ่อก็กลับมาช่วยดูเรื่องเครื่องอะไรเหมือนเดิม ตอนนั้นกำลังขยาย มาสร้างที่ใหม่พอดี

 

แต่พี่ชายก็แอบมาเล่าให้ฟังนะ ว่าดึกๆพ่อแอบมาดูด้วย พอเห็นว่าเราทำงานจริง เค้าก็ไม่ค่อยห่วงละ อย่างน้อยงานหนักก็ยังเอา ไม่ใช่หนักไม่เอาเบาไม่สู้

 

ตอนนั้นนี่รู้สึกดีใจมากเลยที่พ่อยอมให้เราทำทุกอย่าง พี่คิดว่าการที่เราทำงานโดยมีพ่อแม่แบ็คอัพให้ อาจจะเรื่องการเงินหรือเรื่องอื่นๆ เราจะไม่เห็นภาพรวม แต่ตอนนั้น 6 เดือนนี่รู้ซึ้งเลย ได้จริงเจ็บจริง ทำงานหนักแล้วได้รับเงินจริงๆ แต่ถ้าพลาดก็เสียจริงๆเช่นกัน ต้องมีความรับผิดชอบสูงมากๆ

 

แล้วรอบที่สอง?

 

เร็วๆนี้เอง พอมาสร้างที่ใหม่ ก็รับคนเพิ่ม เราก็พยายามสร้างแขนขาไง สร้างทีมงานของเราขึ้นมา เพราะคนเก่านี่ ตอนนี้เหลือแค่คนเดียวเองนะ จากสิบกว่าคน พี่ก็เลยเริ่มสร้างใหม่ เด็กรุ่นใหม่ด้วย

 

แต่ทางพ่อไม่เข้าใจ อารมณ์ไม่ไว้ใจด้วยแหละ เราก็เข้าใจนะ เค้าประสบการณ์มาเยอะ เคยเจอมาเยอะ พอเห็นนิดนึงก็คิดละ คนนี้เดี๋ยวจะเป็นแบบนี้ ต่อไปจะเป็นแบบนี้ ก็ไล่เลย พ่อไม่ถนัดบริหารคน แล้วก็คิดว่าคนทำงานนี่คือต้อง 100% แต่คือพี่เข้าใจเด็กเดี๋ยวนี้ไง ใครๆก็อยากได้เงินเยอะ งานสบายกันทั้งนั้น พอเข้าใจก็คาดหวังไว้แค่ 70% พอ คือต้องการแค่คนช่วยทำงาน เราจะไปรอดโดยไม่เชื่อใจใครเลยซักคนได้ยังไง

 

สุดท้ายพอพ่อไม่โอเค ก็ไล่ออก ก็ต้องไปตามแก้กันว่าเออ เราไม่ได้โกรธคุณเลยนะ ก็จ่ายค่าชดเชยไป แต่พอมากๆเข้า ก็กลายเป็นเราทำเองหมดเลย คือโอเคมันดี งาน 100% แต่เราจะไหวแค่ไหน โรงงานจะไปได้ไกลแค่ไหนกัน พี่ก็เลยทนไม่ไหวละ โดนตัดแขนขาไปหลายรอบ คิดจะเลิกทำแล้วตอนนั้น แต่โชคดีได้โทรไปปรึกษาผู้ใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการเหมือนกัน ซึ่งท่านดึงสติเรากลับมาได้

 

ยังไงคะ?

 

ท่านถามว่า อ่ะ สมมติโรงงานเราเป็นเรือ เราสร้างเรือเพื่อเดินทางข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง 

เรามีทางเลือกสองทาง หนึ่งทำตามแผนที่เราวางไว้มี step 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งถ้าได้ตามแผนนี้ เราจะไปถึงฝั่งได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีพ่อ

กับสอง ไปถึงช้าหน่อย แต่พ่อตามเราทัน พ่อไปกับเราด้วย เรือก็ไม่ได้เสียหาย โรงงานก็ไม่ได้ล่ม เราจะเลือกอย่างไหน?

 

จุดนั้นคือคลิ๊กเลย สติกลับเข้าร่าง มานั่งคิดว่าเออ ที่จริงเราก็ไม่ได้เสียหายอะไร โรงงานก็ไม่ได้เจ๊ง ไม่ได้ขาดทุนด้วยซ้ำ แค่ช้าหน่อย เหนื่อยหน่อย แต่หันมาข้างๆแล้วยังเจอพ่ออยู่ ยังปรึกษาพ่อได้อยู่ ดีกว่าการที่โรงงานประสบความสำเร็จ แต่พ่อไม่คุยกับเรา ไม่มีครอบครัวเป็นไหนๆใช่ไหม


แล้วกลับมาทำยังไงคะ?

ตอนนั้นที่ทะเลาะกันคือชนกันเลย สร้างกำแพง ตั้งป้อมชน แรงกับแรง พอคิดได้ก็เลยถอยกลับมาก้าวนึง พูดแค่ว่า “เอาตามพ่อแหละ” แค่นั้นเอง

 

กลายเป็นว่า พ่อเห็นเราถอย พ่อก็ถอยด้วย จนสามารถปรึกษากัน คุยกันได้ทุกเรื่อง จนถึงจุดที่พ่อถามว่า “เป๊กคิดว่ายังไง” จนถึงทุกวันนี้เลย

 

คุณพ่อยังทำงานอยู่ไหมคะ

ทำๆ ยังดูเครื่อง สร้างเครื่องใหม่ๆให้อยู่ อันนี้เราต้องระวังมากๆเลยนะ พี่คิดว่าการที่เราทำให้พ่อไม่มีส่วนร่วมกับสิ่งที่เค้าสร้างขึ้นมากับมือนี่เป็นเรื่องแย่มากๆ เค้าจะเสียความรู้สึกมาก เราต้องหัดใส่ใจความรู้สึกพ่อด้วย ต้องให้เค้ามีบทบาท มีส่วนร่วมที่สำคัญๆถ้าเค้ายังอยากทำอยู่ ยังทำไหวอยู่

 

แล้วเวลาที่เราทำอะไรสำเร็จ ห้ามไปบอกว่า “เนียะ ป๊าเห็นมั้ย มันต้องเป็นแบบนี้ บอกแล้ว” อันนี้ห้ามเด็ดขาด คิดดูสิ ถ้าเป็นเรา เราจะรู้สึกยังไง มันแย่มากเลยนะที่ทำให้พ่อเสียหน้า หรือรู้สึกว่าเค้าผิดเอง ไม่น่าห้ามเราเลย ถึงแม้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆก็เถอะ เราควรเคารพ ให้เกียรติเค้า แคร์ความรู้สึกเค้ามากๆ ในฐานะที่เค้าเป็นพ่อของเรา เค้าสร้างมาให้เรามากขนาดนี้ก็เป็นบุญคุณมากแล้ว เวลาที่ทำอะไรแบบนั้นแล้ว ต้องรีบกลับไปง้อพ่อด้วย ไปอ้อนเยอะๆ เค้าจะได้รู้สึกดีขึ้น


มีเรื่องที่พ่อยังไงก็ไม่ยอมให้ทำมั้ยคะ แล้วแก้ยังไง

มีสิ ฮ่าๆ สัปดาห์ก่อนนี่เอง แอบติดอุปกรณ์นึงขึ้นไปบนหลังคา เป็นเครื่องช่วยระบายความร้อนน่ะ ก็แอบติดขึ้นไปเลย แต่พ่อมาเห็นตอนยังไม่เสร็จ ก็โดนดุเหมือนกันนะ ก็เลยต้องไปอธิบายอยู่นานว่าพอเสร็จแล้วจะไม่ใช่แบบนี้นะ จะมีผลแบบนี้ๆ ดีขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้

 

เคยมีพลาดเรื่องเครื่องด้วย พี่ไปจ้างคนนอกมาช่วยพ่อทำพวก automation ให้มันเป็นแบบสมัยใหม่หน่อย คือเครื่องพ่อจะค่อนข้าง mannual ปรากฏว่าคนที่จ้างมาไม่ยอมฟังพ่อ ออกแบบเครื่องมาใหม่เลย ซึ่งมันยังสู้ของพ่อไม่ได้ คือพี่ตั้งใจให้เค้าทำงานร่วมกัน ให้คนนั้นเข้ามาเติมของพ่อ ที่มันดีอยู่แล้วให้มันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น กลายเป็นว่าไม่ลงรอยกัน พี่เลยผิดเต็มประตู ฮ่าๆ

 

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนะ คือเราต้องอดทน ตอนนี้พ่อยังทำงานไหว ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ยังให้คำปรึกษาได้ เราต้องยอมฟัง อดทนไปก่อน พี่คิดเสมอเลยนะว่า ถ้าไม่มีพ่อแล้ว พี่จะทำยังไง อะไรต้องรู้ อะไรต้องถาม จะพยายามเรียนรู้ให้มากที่สุด พ่อไม่สามารถอยู่กับเราได้ตลอดไปหรอก ต้องอดทนเพื่อเรียนรู้งาน ลองนึกดูสิ ว่าถ้าเราไม่อดทนตอนนี้ เกิดวันนึงพ่อไม่อยู่แล้ว อยู่ๆก็ต้องเข้ามาบริหารเลย เราจะเจอปัญหาเยอะแค่ไหน แล้วตอนนั้นจะหันไปปรึกษาใคร


ตอนนี้คุณพ่อยอมให้ทำทุกอย่างแล้วใช่มั้ยคะ

ใช่ เมื่อก่อนก็ห่วงหลายๆเรื่อง แต่พอเราพิสูจน์ว่าเราคิดได้รอบคอบแล้ว เข้าใจสิ่งที่เค้าต้องการจะสอนแล้ว เค้าก็จะปล่อยให้เราทำเอง อย่างเมื่อก่อนนี่พอพี่มาเริ่มรับงาน โรงงานมันก็โตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยกระแส ด้วยเศรษฐกิจ ด้วย พ่อก็เป็นห่วงมากว่าเราไม่เคยเจอความล้มเหลวเลย กลัวว่าถ้าวันนึงล้มขึ้นมาแล้วจะรับไม่ได้

 

ซึ่งจริงๆนี่ตรงจุดเลย พี่เป็นคนกลัวความล้มเหลวมาก ติดจะตีตนไปก่อนไข้ด้วย มีเหตุนิดนึง คิดไปโน่นละ ก็เลยทำให้เป็นคนที่คิดรอบคอบ วางแผนรัดกุม คิดรอบด้าน พอมาทำงานก็ระวังมากขึ้น มีแผนสองแผนสาม ติดตามงานอย่างใกล้ชิดตลอด แล้วก็ปรับตัวตลอดเวลา ตลาดเปลี่ยน เราเปลี่ยนให้ทัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณภาพยังต้องดีเหมือนเดิมนะ อาจจะเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ วิจัยตรงนั้นตรงนี้ ลองตลาดใหม่เรื่อยๆ 

 

ตอนหลังพ่อก็เริ่มไว้ใจละ ว่าเรามีแผนรองรับนะ ถ้าเกิดเหตุแบบนี้ เราจะยังรอดอยู่


มาทำงานนี่ รู้สึกว่าโรงงานกินความเป็นตัวตนของเราไปมั้ยคะ

กิน แต่ถ้าไม่โดนกินก็ไม่เจริญรุ่งเรือง ไม่เติบโตสิ 

 

ตอนเด็กๆก็คิดแต่จะตีแบดอย่างเดียว คิดว่าชอบแล้วจะทำได้ตลอด แต่ก็ไม่ใช่ พอมาตอนนี้รู้สึกว่าชอบทำขนม แล้วก็คิดว่าทำมันได้ดี พอเราทุ่มเทใส่ใจกับมันมากๆ เราก็เริ่มเชี่ยวชาญ ใช้ชีวิตอยู่กับมันได้ ตอนที่มาทำงานแรกๆยังคิดอยู่เลยนะ ว่าจะมาทำโรงงานแค่ปี สองปี พอเริ่มเข้าที่ก็จะกลับไปตีแบดต่อ แต่ทำไปทำมา ตอนนี้ก็สิบกว่าปีละ ยังไม่เข้าที่เลย

 

เราก็เข้าใจรุ่นพ่อเรานะ ชีวิตเค้าคือมีแค่งานกับลูก ก็ทุ่มเทอยู่สองอย่าง แต่พอมาสมัยเรานี่มันก็เปลี่ยนไปเยอะ เราก็ต้องการทำงานที่สบายขึ้น ไม่ต้องทุ่มเทเต็มร้อยเหมือนอย่างพ่อ ก็อยากมีเวลาไปใช้ชีวิตส่วนตัวบ้าง แต่พอทำๆไปแล้วก็กลายเป็นว่าอยู่กับมันตลอดเวลาเลย วันๆอยู่หน้าเตา คิดถึงแต่เรื่องงานตลอด เมื่อก่อนภรรยาพี่ก็ไม่เข้าใจนะ อะไรจะไม่มีเวลาให้เค้าขนาดนั้นเลยหรอ จนตอนนี้มาทำงานด้วยกันเข้าใจละ ว่ามันเป็นแบบนั้นจริงๆ

 

ตอนนี้พอกลับมานั่งคิด เรื่องการทำขนมหวานนี่เป็นเรื่องที่เราถนัด ตลาดเราก็รู้เยอะ ถนัดสุด ถามว่าถ้าจะให้ไปทำอย่างอื่น ตอนนี้ก็คงทำได้ไม่ดีเท่าทำขนมหวานละ

 

ที่จริงคนเราพออายุเข้า 30 กว่า แต่งงานมีครอบครัวแล้วก็จะโหยหางานอย่างนี้นะ เพราะพบว่าการทำงานเป็นพนักงานบริษัท ถึงแม้ว่าจะมีเวลาเป็นส่วนตัว เลิกงานแล้วก็แล้วกัน มีพักร้อน มีลากิจ ลาป่วย ไม่ต้องรับผิดชอบมาก แต่ว่าพอถึงจุดนึง ก็คือทำเพื่อคนอื่น ทุ่มเทเพื่อคนอื่นอยู่ดี ไม่มีอะไรเป็นของเราเลย พี่ว่าเรามีกิจการของพ่อนี่ดีที่สุดแล้ว เราแค่ต้องยอมรับว่านี่เป็นช่วงเวลาเหนื่อยของเรา เราต้องทุ่มเท เราต้องอดทนให้มาก ซึ่งสุดท้ายแล้ว ทั้งหมดมันก็เป็นของเรานั่นแหละ ความมั่นคงทางการงานมันเทียบกันไม่ได้เลย


มันเหนื่อยขนาดไหน?

ก็มีคนเอาปัญหามาให้แก้ตั้งแต่สากะเบือ ยันเรือรบแหละ ทุกวันนี้นี่ไม่มีโต๊ะนั่ง เพราะไม่ได้นั่ง ต้องไปเดินไปเดินมาตลอด ฮ่าๆ เอ้า จะลองไปเดินดูไหม?

 

แล้วเราก็ปิดท้ายการสัมภาษณ์ด้วยการเดินชมฝอยทองหลากสีสันที่ตากอยู่มากมายอย่างกับราวตากผ้า แล้วก็ได้สี่สหาย อันประกอบไปด้วย ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด เม็ดขนุน มาเป็นของแถมในวันนี้ 

 

ปล.สามารถสั่งขนมไทยได้ที่ https://www.facebook.com/btyfood/ หรือหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อชั้นนำทั่วประเทศ


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “ฉันนี่แหละลูกเถ้าแก่” 

ข้อคิดและบทสรุปจากการสัมภาษณ์ทายาทธุรกิจ โดย พราวพร


บทความที่คล้ายกัน