SMEsAcademy-FB
รับส่วนลด 300 บาทสำหรับการซื้อครั้งแรก

ความเสี่ยงในการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ

27 สิงหาคม 2564
ความเสี่ยงในการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ

ความเสี่ยงในการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ

ความเสี่ยงในการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ (Professional Exposure Risk) หมายถึง ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการลูกค้า ซึ่งอาจมีผลทำให้ผู้สอบบัญชีเสื่อมเสียชื่อเสียง การเผยแพร่ข่าวสารในเชิงลบหรือถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้รายงานการสอบบัญชีมีความสงสัยในคุณภาพของการปฏิบัติงานและรายงานของผู้สอบบัญชี ผู้สอบบัญชีอาจถูกเรียกให้ชี้แจงตอบคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ซึ่งมีผลกระทบต่อชื่อเสียงของผู้สอบบัญชี หรือผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้รายงานการสอบบัญชีอาจดำเนินคดีฟ้องร้องผู้สอบบัญชี เป็นต้น


ความเสี่ยงประเภทนี้บางทีเรียกว่า "ความเสี่ยงทางธุรกิจของผู้สอบบัญชี" ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่บุคคลภายนอกสงสัยว่า ผู้สอบบัญชีได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการสอบบัญชีหรือไม่ ในบางกรณีถึงแม้ผู้สอบบัญชีจะชนะคดีความจากการถูกฟ้องร้อง เนื่องจากพิสูจน์ได้ว่าตนได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการสอบบัญชีและจรรยาบรรณของวิชาชีพแล้วก็ตาม แต่ความเสี่ยงนี้ยังคงมีอยู่ เนื่องจากสาธารณชนและผู้ใช้รายงานการสอบบัญชียังมีความสงสัยในการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีในการประเมินความเสี่ยงในการปฏิบัติงานตามวิชาชีพนั้น ผู้สอบบัญชีจำเป็นต้องพิจารณาว่าผู้ใช้งบการเงินเป็นบุคคลกลุ่มใด ลูกค้าที่มีความเสี่ยงประเภทนี้สูง ได้แก่ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (เนื่องจากมีผู้ใช้งบการเงินเป็นจำนวนมาก) หรือบริษัทที่กำลังมีปัญหาในการดำเนินธุรกิจ (เช่น บริษัทที่มีหนี้สินเป็นจำนวนมากและมีความเป็นไปได้สูงที่จะล้มละลาย และบริษัทที่กำลังจะถูกรวมกิจการ เป็นต้น) เนื่องจากมีผู้ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในงบการเงินที่ตรวจสอบมากกว่าปกติ และบุคคลเหล่านี้ต้องการความเชื่อมั่นในระดับสูงจากผลการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี

                                                     


วิธีการหนึ่งในการจัดการกับความเสี่ยงในการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ ได้แก่ การประเมินความเสี่ยงทุกครั้งก่อนที่จะมีข้อตกลงในการรับงานสอบบัญชีสำหรับลูกค้ารายใหม่และลูกค้ารายเดิม การประเมินความเสี่ยงก่อนรับงานช่วยให้ผู้สอบบัญชีมีโอกาสคัดเลือกลูกค้าได้ในระดับหนึ่ง ในบางกรณี ผู้สอบบัญชีเลือกที่จะไม่รับงานสอบบัญชีที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากการรับงานดังกล่าวอาจมีผลทำให้ผู้สอบบัญชีไม่สามารถปฏิบัติงานตามมาตรฐานการสอบบัญชีได้ ผู้สอบบัญชีจะประเมินความเสี่ยงในการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ  โดยพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญ ดังต่อไปนี้


 

ประเภทของธุรกิจ

  • สภาพแวดล้อมทั่วไปทางธุรกิจ เช่น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อกิจการที่ตรวจสอบ
  • วัฏจักรของธุรกิจ เช่น ระยะของการดำเนินธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น หรือถึงจุดอิ่มตัว
  • ความเป็นไปได้ทางธุรกิจของกิจการที่ตรวจสอบ
  • สภาพการแข่งขัน
  • การยอมรับของลูกค้าต่อผลิตภัณฑ์ของกิจการที่ตรวจสอบ
  • ความอยู่รอดต่อไปในอนาคตของกิจการและกลุ่มธุรกิจที่กิจการดำเนินอยู่
  • ขนาดและปริมาณของรายการทางธุรกิจ
  • ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจประเภทนั้น 

ผู้เป็นเจ้าของและผู้บริหารของกิจการที่ตรวจสอบ

  • ความซื่อสัตย์ของผู้บริหาร
  • ประสบการณ์และความรู้ความสามารถของผู้บริหาร
  • ทัศนคติของผู้บริหารต่อการจัดทำงบการเงิน

โครงสร้างของกิจการที่ตรวจสอบ

  • โครงสร้างการถือหุ้น เช่น มีการกระจายผู้ถือหุ้น หรือถือหุ้นโดยบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
  • ความซับซ้อนของโครงสร้างการจัดองค์กร
  • รายการกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน

ฐานะทางสังคมของกิจการที่ตรวจสอบ

  • ชื่อเสียงทางธุรกิจ
  • การยอมรับของสังคมต่อธุรกิจประเภทนั้น
  • กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ

ฐานะทางการเงินของกิจการที่ตรวจสอบ 

  • ความเพียงพอของเงินทุนหมุนเวียน
  • จำนวนทุนเรือนหุ้น
  • การดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการที่ตรวจสอบ

บทความที่คล้ายกัน