เรื่องเล่า จากครอบครัวคนจีน
“ครอบครัวคนจีน ลูกชายคนโตต้องมารับกิจการต่อ!”
พี่เอ... โรงงานก๋วยเตี๋ยวในตำนาน
เรื่องราวต่อไปนี้เป็นเรื่องเศร้า...ซึ่งได้รับเกียรติจากพี่เอ (นามสมมติ) รุ่นพี่ที่เคารพมาตั้งแต่ยังเด็ก กรุณาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังเป็นบทเรียนให้ใครหลายๆคน
โรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวนั้น เป็นที่รู้กันว่าทำงานไม่เป็นเวลา เพราะมีขั้นตอนกระบวนการหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่โม่ข้าวออกมาเป็นน้ำแป้ง นำมากรอง นึ่งน้ำแป้งให้สุก แล้วตัดเป็นเส้นขนาดต่างๆ หลังจากนั้นจึงแพ็ค หรือผ่านกระบวนการเฉพาะอีกเช่นการอบแห้ง หรือรมแก๊สให้สีขาวสวย เส้นตายของโรงงานก๋วยเตี๋ยวต่างจังหวัดอยู่ที่ตลาดเช้า เพราะเป็นอาหารที่ทำสดทานสด ข้ามหลายวันไม่ได้เพราะจะบูด เส้นสดๆที่พร้อมขายจึงต้องพร้อมอยู่ที่แผงในตลาดตามเวลาที่กำหนด และเวลาที่ว่านั่นคือตี 4
นั่นหมายความว่ากระบวนการผลิตทั้งหมดต้องทำตอนกลางคืน ในขณะที่วัตถุดิบ อุปกรณ์แพ็กเกจจิ้งและของจิปาถะของโรงงานทั้งหมดยังคงต้องมาส่งและสั่งซื้อตอนกลางวัน
และเวลาพบลูกค้าและเก็บเงินนั้น ก็เป็นเวลาตี 5 ของทุกวัน
โรงงานที่ว่านี้เป็นของพี่เอ ซึ่งเกิดในครอบครัวชาวจีนแท้ๆ คุณพ่อซึ่งปัจจุบันอายุขึ้นเลขเจ็ดแล้วนั้น เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง คุณแม่ของพี่เค้านั้นหย่าขาดออกไปจากครอบครัวโดยสมบูรณ์ นั่นหมายความว่า งานทั้งหมดของโรงงาน คุณพ่อรับแต่เพียงผู้เดียว
พี่เอคนนี้เติบโตมาอย่างลูกชาวจีน คุณพ่อส่งให้เรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง ได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ครอบครัวนี้มีลูกทั้งหมด 5 คน เป็นพี่สาว 3 คน และน้องชายหนึ่งคน และด้วยความที่อายุห่างกันพอสมควร พี่สาวจึงรีบกลับมาช่วยงานคุณพ่อก่อน เนื่องจากเห็นคุณพ่อทำคนเดียว จนกระทั่งแต่งงาน และให้พี่เขยเข้ามาช่วยงานด้วย ทั้งสองคนช่วยคุณพ่อทำงานจนโรงงานสามารถยืนอยู่ได้ จนกระทั่งวันที่พี่เอเรียนจบ
พี่เอเรียนทางด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม และเนื่องจากรักในอาชีพ จึงได้ไปสมัครงานและทำงานในโรงแรมตรงตามสายที่เรียนมาจนกระทั่งวันหนึ่ง คุณพ่อโทรมาตามให้กลับบ้านมาช่วยงาน ด้วยคำขาดที่ว่า
“ครอบครัวคนจีน ลูกชายคนโตต้องมารับกิจการต่อ!”
ด้วยความที่ว่าพี่เอเป็นลูกที่ดี เป็นลูกกตัญญู จึงลาออกจากงานที่ตัวเองถนัด กลับเข้าสู่โรงงานอันแสนวุ่นวาย ซึ่งในขณะนั้น พี่สาวกับพี่เขยได้แยกตัวออกจากโรงงานไปแล้ว ด้วยความคิดเดียวที่ว่า
“ไม่อยากให้พ่อเสียใจ ด้วยการปฏิเสธโดยไม่ลองพยายาม”
พี่เอเลยกลับมาจัดการโรงงานที่ต้องอาศัยทั้งความรู้ ประสบการณ์ ความอดทน และใจรัก เนื่องด้วยเป็นอาชีพที่หนักหนาสาหัสเอาการ โดยเริ่มศึกษาใหม่หมดเลยตั้งแต่วิธีการทำก๋วยเตี๋ยว วิธีการขายของ การตลาด จนกระทั่งการพบปะลูกค้า ต้องขับรถไปเก็บเงินตอนตี 5 ที่ตลาดทุกวัน ต้องทำเส้นก๋วยเตี๋ยวเองทุกวัน รวมไปถึงเรื่องการจดทะเบียน ติดต่อราชการ กระบวนการทางกฎหมายและมาตรฐานอะไรต่างๆซึ่งคุณพ่อยุ่งเกินกว่าที่จะมาสนใจ
ตอนนั้นจึงทำให้รู้ว่า พี่สาวได้เอาสินค้าไปจดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว...
จังหวะนั้นพี่เอหันกลับมาหาคุณพ่อ ทำไมพ่อต้องเรียกเค้ากลับมา ทำไมไม่ยกโรงงานให้พี่สาวกับพี่เขยซึ่งทำมาตั้งแต่ต้นไปล่ะ
คุณพ่อตอบกลับมาว่า
“ครอบครัวคนจีน ลูกชายคนโตต้องมารับกิจการต่อ!”
ช่วงนั้นพี่เอก็เลยหันหน้าเข้าหาธรรมมะ เพราะปัญหารุมเร้ารอบด้าน ฝ่ายคุณพ่อก็เครียดจนคิดฆ่าตัวตาย ทำไมเรื่องแบบนี้ต้องมาเกิดกับเค้าด้วย เค้าทำผิดอะไร ทำงานหนัก ส่งเสียลูกและครอบครัวมาทั้งชีวิต ทำไมใครๆก็ไม่ได้ดั่งใจ
ทางด้านพี่สาวนั้น วันที่พี่เอไปเจรจา มันเลยจุดของคำว่าประณีประนอมไปแล้ว พวกเค้าทั้งสองคนไม่อยากได้โรงงานแล้ว เพราะโรงงานใหม่ของพวกเค้าเองสร้างเสร็จ เดินเครื่องได้เรียบร้อย พวกเค้ายื่นคำขาดว่า
“รับได้ แต่ไม่เอาหนี้!”
แล้วในเวลาต่อมาไม่นาน พี่เอก็ทนไม่ไหว ในวันที่ไปพบลูกค้าตอนตี 5 ซึ่งคุณพ่อก็ยังไม่ยอมให้เปลี่ยนเป็นระบบโอนเงินซักทีนั้น ก็เกิดคำถามขึ้นมากับตัวเองว่า
“นี่คือชีวิตเราหรอ เราต้องอยู่แบบนี้ไปตลอดชีวิตหรอ”
จุดนั้นคือจุดที่พี่เอใคร่ครวญอย่างหนัก เนื่องด้วยเกรงใจคุณพ่อด้วย ความกตัญญูก็คำ้คออยู่ แต่แล้วเค้าก็คิดได้ว่า ยิ่งทำต่อไป ตัวเองก็ยิ่งแย่ แถมยังต้องมามีปัญหากับพี่สาวอีก พี่เอเลยขอคุณพ่อ “คืนโรงงานให้ ไม่ทำแล้ว”
ณ เวลานั้นคุณพ่อก็รับโรงงานคืนไป แต่ก็เริ่มอายุมาก สุขภาพไม่ค่อยดี แถมยังเครียดมาก พี่เอเลยพาไปปรึกษาหลวงพ่อที่วัด ไปปฏิบัติธรรม จนสามารถปล่อยวางได้ เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม เข้าใจว่าชาติที่แล้วอาจจะทำอะไรร่วมกันมา
ทั้งสองคนตัดสินใจขายโรงงานออกไปในราคาถูก เลิกทุกอย่างที่เคยทำมา...
เพราะคำว่า “สอนเฉพาะลูกชาย ไม่สอนลูกสาว” และ “ลูกชายคนโต ต้องเข้ามารับช่วงกิจการ” เท่านั้นเอง...
ปัจจุบันคุณพ่อพี่เอใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบในบ้านพักต่างจังหวัด พบปะเพื่อนฝูงเข้าวัดฟังธรรม ส่วนพี่เอกลับไปเรียนปริญญาเอกต่อที่มหาวิทยาลัย และตั้งใจจะใช้ชีวิตเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่อไป...
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “ฉันนี่แหละลูกเถ้าแก่” ข้อคิดและบทสรุปจากการสัมภาษณ์ทายาทธุรกิจ โดย พราวพร