SMEsAcademy-FB
รับส่วนลด 300 บาทสำหรับการซื้อครั้งแรก

เรื่องเล่า ลูกคนเล็กของตระกูล และโรงงานแกลลอนพลาสติก

13 กรกฎาคม 2564
เรื่องเล่า ลูกคนเล็กของตระกูล และโรงงานแกลลอนพลาสติก

เรื่องเล่า ลูกคนเล็กของตระกูล และโรงงานแกลลอนพลาสติก

“ทำตามที่ผู้ใหญ่บอกไปก่อนเถอะ เมื่อถึงเวลาก็จะเข้าใจเอง”
 Sangroong Group by K.Soradet
 


บ่ายวันนึงได้มีโอกาสไปพูดคุย จิบชาจีน กับพี่ผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่ง บนถนนเส้นชายทะเลบางขุนเทียนอันเป็นสำนักงานของบริษัท แสงรุ่งกรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตแกลลอนพลาสติกเจ้าใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งนำพาไปสู่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็นด้วยกัน ว่าการเป็นรุ่นที่สองที่เข้ามารับช่วงต่อกิจการนั้น ต้องเดินทางผ่านถนนประสบการณ์เส้นไหนมาบ้าง
 

คุณสรเดช ฉัตรเลขวนิช หนึ่งในห้าบุรุษแห่งแสงรุ่งกรุ๊ป เดินออกมาต้อนรับพวกเราด้วยท่าทีสบายๆ ภายใต้บรรยากาศสำนักงานที่แสดงออกถึงความเป็นบ้านชาวจีนได้อย่างอลังการ ผสมผสานกับที่จอดรถขนาดใหญ่ และโครงสร้างหลักที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็นโรงงานและโกดังเก็บสินค้ามาก่อน 
 
พี่มีพี่น้อง 5 คนเลยหรอคะ
ใช่ๆ ผู้ชายหมดเลยด้วยนะ และพี่เป็นคนเล็กสุดโอ้โห สุภาพบุรุษจุฑาเทพชัดๆเลยแหม~
 
แล้วเราก็เดินจินตนาการตาเยิ้มเข้าไปในบ้าน ที่ด้านในตกแต่งเป็นสำนักงานและมีพนักงานออฟฟิศกำลังจัดการกับกองเอกสารอยู่หลายคน


ทำไมพี่ถึงมาทำงานที่บ้านคะ ทั้งๆที่มีพี่น้องตั้ง 5 คนแท้ๆ

คืองี้นะ ตอนแรก โรงงานเราก็ผลิตอยู่ที่นี่แหละ แล้วในตอนนั้น ที่นี่มันแน่นละ มันต้องขยาย ต้องลงทุนเพิ่ม พ่อกับแม่ก็เลยจับเรา 5 คนมานั่งปรึกษากัน เอาไงดี จะทำต่อมั้ย เพราะว่าถ้าต้องลงทุนเพิ่ม กู้เพิ่ม ขยายอีก ถ้าไม่ทำต่อ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม ในตอนนั้น พี่ๆบางคนก็ยังเรียนอยู่ บางคนก็ทำงานข้างนอก ส่วนตัวพี่นี่ยังอยู่มัธยมปลายอยู่เลยมั้งตอนนั้น แล้วทุกคนก็ตกลงกันว่าจะทำต่อ ก็เลยทำต่อ แค่นั้นเลย

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการส่งไม้ต่อกิจการของครอบครัว ถือเป็นจุดที่ดีทีเดียวเลย เพราะในตอนนั้น พี่ๆคนที่ยังเรียนไม่จบก็สามารถเปลี่ยนสาขาที่เรียนได้ พวกเรา 5 คน เรียนกันคนละสาขา ทำงานกันคนละส่วน เพื่อขับเคลื่อนโรงงานเล็กๆที่พ่อกับแม่ปลูกไว้ให้"


 
แล้วพี่มี Passion อย่างอื่นมั้ยคะ ตอนนั้นอยู่แค่มัธยม ทำไมถึงแน่ใจว่านี่คือสิ่งที่พี่อยากทำเป็นอาชีพ?”

มีนะ เล่นดนตรี อะไรแบบนั้น แต่ตอนนั้นเราก็คิดแล้วล่ะ ว่า Passion ของเรานี่มันก็เป็นความสุขนะ แต่ไม่สามารถทำเงินได้จากมัน ประกอบกับการช่วยพ่อแม่มาตั้งแต่เล็กๆ เมื่อก่อนที่ที่นี่เป็นโรงงาน พวกเราก็โตขึ้นมาที่นี่ล่ะ กลับจากโรงเรียนก็มาช่วยแพ็คของบ้าง ติดรถไปส่งของบ้าง นับของบ้าง พวกเราก็ลงมาช่วยกันตั้งแต่เด็กๆ ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก โตมากับมัน ก็เลยกลายเป็นความเคยชิน ความคุ้นเคย ก็เลยคิดว่าจะช่วยกันทำต่อ ตอนนั้นก็เลยขยายโรงงานไปที่ชลบุรี แล้วที่นี่เป็นโกดังกระจายสินค้า พี่คนที่เรียนวิศวะมาก็รับโรงงานไปดูแลเลย แล้วคุณพ่อก็ค่อยๆปล่อยงานให้ทีละอย่างสองอย่าง จนตอนนี้คุณพ่อไม่ค่อยทำแล้วนะ แต่คุณแม่ยังทำบัญชีอยู่

 

กับพ่อแม่นี่ มีปัญหาเรื่องการสื่อสารกันมั้ยคะ
ไม่นะ เพราะพี่เป็นคนเล็ก พ่อก็จะสั่งงานผ่านคนโต เลยไม่ค่อยได้รับอะไรโดยตรง ไม่มีปัญหาเลย ฮ่าๆ ที่จริงก็อายุต่างกันประมาณ 20 กว่าปีนะ. พ่อกับพี่คนโต ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาอะไรกันมั้ง แต่พี่ก็เคยนะ เถียงกับพ่อว่าจะปลูกต้นไม้ต้นนึงตรงหัวมุมถนนนั่น พ่อก็ไม่ให้ปลูก เราก็ไม่เข้าใจ ดื้อปลูกไปนั่นแหละ ไม่ฟังพ่อ จนผ่านไป 5 ปี เจ้าต้นไม้นั่นโตละ เกะกะเป็นบ้า ถึงเพิ่งจะเข้าใจพ่อ อ๋อ รถเข้ารถออกถอยชนตลอด ฮ่าๆ

 

แล้วทำไมยังให้คุณแม่ทำบัญชีอยู่คะ เห็นว่าอายุ 60 กว่าแล้ว

ได้ยินมาว่าถ้าคนแก่หยุดทำงานแล้วจะแก่เร็ว เค้าทำแล้วมีความสุข ได้ใช้สมองตลอดเวลาเหมือนกล้ามเนื้อได้ออกกำลัง อันที่จริงเรื่องนี้มันก็ไม่น่าเป็นปัญหานะ เรื่องการทำงานด้วยกันกับพ่อแม่ มันมีวิธีคิดอยู่ว่า พ่อกับแม่อยากให้ทำอะไรก็ทำตามเค้าไปก่อน ยังไงๆเค้าก็ถือว่าเป็นเจ้าของอยู่แล้ว เราแค่มาช่วยทำงานเท่านั้น ซึ่งมันก็มีเหตุผลอยู่ 2 ข้อ 

ข้อแรก มันอาจจะเป็นสิ่งที่เรายังคาดเหตุผลไม่ถึงก็ได้ แต่พ่อกับแม่เค้าเห็นแล้วว่าจะเกิดปัญหานี้จากประสบการณ์ บางทีเค้าอาจจะไม่รู้วิธีอธิบายให้เราเข้าใจ

ข้อสอง ต้องตามใจคนก่อตั้ง ถึงตอนที่เรารับมาเต็มตัวก็สามารถเอาประสบการณ์ที่พ่อแม่เคยสอน กับประสบการณ์และไอเดียของเรามาประยุกต์ใช้อีกทีก็ยังไม่สาย แถมได้ประสบการณ์ของพ่อกับแม่มาเป็นของแถมด้วย ถึงตอนนั้นเราอาจจะเข้าใจก็ได้ว่าทำไมตอนนั้นพ่อกับแม่บอกให้ทำแบบนั้นในตอนนั้น

 

จริงด้วยค่ะ แล้วพี่มีปัญหากับลูกน้องเก่าพ่อมั้ยคะ ตอนมาเริ่มทำ

ตอนที่รุ่นพี่เข้ามาทำ มันเป็นการย้ายโรงงาน คือมันก็ต้องมีคนบางส่วนออก เพราะว่าไม่อยากย้ายตามเราไปที่ชลบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกมีครอบครัวนะ คนโสดๆก็ตามเราไปเพราะว่าเรามีที่พักให้ เพิ่มสวัสดิการอะไรต่างๆ ก็เลยไม่มีปัญหาประเด็นนี้เท่าไหร่ เพราะคนทั้งหมดก็มัวแต่กังวลกันว่าจะต้องย้ายไปมั้ย จะไปเมื่อไหร่ ไม่ไปดีมั้ย หรือจะได้สว้สดิการ/เงินชดเชยอะไรบ้างต่างๆนานา เพราะที่นี่ไม่มีงานให้ทำแล้ว

 

พี่เห็นด้วยหรือไม่กับการทำธุรกิจของตัวเองที่ต้องอยู่เฝ้าตลอด

การที่เราทำงานของตัวเองแล้วต้องอยู่ตลอดนี่ไม่เห็นด้วยนะ เพราะแปลว่าลูกน้องเราไม่เก่งเลยสิ จริงอยู่ที่ว่าลูกน้องเราเริ่มจากระดับล่างๆนะ แต่พอเข้ามาที่นี่ก็แล้วก็จะมีการสอน ไม่ว่าใครก็ต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งนั้นในการทำงานแต่ละที่ พี่ก็พยายามใส่ระบบ ใส่เทคโนโลยีเข้าไป นี่แค่ให้แต่ละฝ่ายเวลามาเสนอผลงานต้องมี presentation ด้วยนี่ยังต้องปรับกันตั้งหลายเดือน พวกพี่เองก็ปรับด้วยเหมือนกัน เมื่อก่อนเวลาประชุมก็จะเข้าประชุมหมด ทั้งพี่ๆ ทั้งลูกน้องของแต่ละคน พอมีประเด็นปุ๊ปก็กลายเป็นพี่น้องมานั่งเถียงกันเองต่อหน้าลูกน้อง ฮ่าๆ ตอนหลังก็เลยประชุมเฉพาะพี่น้องก่อน

ที่นี้ พอเราปรับลูกน้องได้ โครงสร้างองค์กรแข็งแรงขึ้น ระบบการทำงานดีขึ้น ระบบอีเมลสมบูรณ์ เอกสาร สต๊อกสินค้าดีขึ้น เราก็ไม่ต้องอยู่เฝ้าตลอดละ พี่คิดว่าการทำธุรกิจครอบครัว หรือธุรกิจส่วนตัวอะไรก็แล้วแต่ เราจะต้องมีอิสระพอที่จะได้ใช้ชีวิตของตัวเองด้วย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุนะ ที่เลือกทำที่นี่ต่อ คือพี่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ มีเวลาให้ครอบครัว แล้วยังมีเวลาไปทำ Passion ที่ตัวเองชอบด้วย

 

ครอบครัวพี่ให้สะใภ้เข้ามาทำงานในโรงงานมั้ยคะ

ไม่ครับ ทุกคนให้สะใภ้ไปข้างนอก กระจายความเสี่ยง ฮ่าๆ ที่จริงแต่ละคนก็มีงานที่ถนัดนะ บางคนได้เงินเยอะกว่าสามีอีก พวกพี่เลยบอกว่า จ้างไม่ไหวๆ ฮ่าๆ
 

คาดหวังว่าลูกจะมาทำต่อมั้ยคะ

อันนี้ต้องรอดูว่าตอนลูกโตแล้วโรงงานอยู่ในสถานะไหนนะ แล้วลูกถนัดอะไรด้วย พี่ก็จะให้เค้าเป็นคนตัดสินใจ แต่ถ้าถามว่าอยากมั้ย ก็อยากแหละ แต่โรงงานนี้ก็ต้องโตขึ้นไปเรื่อยๆ อาจจะเข้าตลาดหลักทรัพย์หรืออะไร ก็ค่อยดูกันอีกที” 


หลังจากชาจีนหมดแก้ว สาลี่หมดไปหลายชิ้น ก็ถึงเวลาขอตัวนำข้อคิดจากรุ่นพี่ที่กุมกิจการของพ่อแม่ไว้ในกำมืออย่างมั่นคง มาพินิจพิจารณาอย่างละเอียดต่อไป 


 บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ ฉันนี่แหละลูกเถ้าแก่” 
ข้อคิดและบทสรุปจากการสัมภาษณ์ทายาทธุรกิจ โดย พราวพร


บทความที่คล้ายกัน