SMEsAcademy-FB
รับส่วนลด 300 บาทสำหรับการซื้อครั้งแรก

เรื่องเล่า ธุรกิจกล่องกระดาษ กับปัญหาทางธุรกิจ

13 กรกฎาคม 2564
เรื่องเล่า ธุรกิจกล่องกระดาษ กับปัญหาทางธุรกิจ

เรื่องเล่า ธุรกิจกล่องกระดาษ กับปัญหาทางธุรกิจ

“คน... ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่เหนือเรา หรือคนที่อยู่ใต้เรา เป็นสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในความคิดพี่”

คุณณัฏฐ์ อมรธนานุบาล
บจก.  ทีไฟว์ เปเปอร์ แพลเลต


เสียงน้ำซู่ๆ ที่แซมมาด้วยเสียงบอร์ดกระทบน้ำเป็นระยะ นอกจากจะทำให้นึกถึงสวนสนุกที่ชอบไปเล่นในวัยเด็กแล้ว ยังชวนให้นึกจินตนาการวาดฝันไว้ว่าพี่ชายที่จะมาพบเราในวันนี้ เป็นคนอย่างไร

ไม่นานเจ้าของเรื่องก็ปรากฏกาย เดินเข้ามาทักเราราวกับว่าเคยรู้จักกันมาก่อน แล้วก็เชิญชวนเราหามุมหลบเสียงน้ำเพื่อฟังเรื่องราวในตำนานของ T5 แพลเลตกระดาษที่เราเห็นวางของกันอยู่เต็มอิเกีย

 

“เอ้า แนะนำตัวก่อน“ 

พี่ชื่อณัฏฐ์นะครับ อายุ 37 ปีแล้ว เป็นลูกคนโต มีน้องสาวหนึ่งคน อายุห่างกันสองปี พี่ก็ยังโสดนะครับ ทำงานที่บริษัทของพ่อ T5 แล้วก็เป็นหุ้นส่วนที่นี่ Flow house bangkok” นั่งปุ๊ปพี่แกก็มาเต็มยศชนิดที่ว่าผู้สัมภาษณ์ไม่ต้องอ้าปาก แค่ยิ้มแล้วจดจำตามให้ทันก็พอ

บริษัทพี่ตอนนี้ก็ 10 ปีแล้วครับ ที่มาก็เพราะเมื่อก่อนคุณพ่อเคยทำงานเกี่ยวกับกล่องกระดาษ ก็เลยเห็นช่องทางตรงนี้ เลยหุ้นกับกับเพื่อนเปิดบริษัทของตัวเอง ตอนนั้นพี่ก็เรียนจบละ เรียนจบวิศวะคอมที่ลาดกระบังฯ แล้วก็ไปต่อโทที่อเมริกา แล้วก็กำลังเริ่มทำงานเขียนโปรแกรมอยู่ ชีวิตกำลังดีเลย เงินเดือนเป็นแสน ทำงานที่ชอบ แถมอยู่ซานฟรานฯ โก้หรูมากตอนนั้น 

แต่พอพ่อเริ่มกิจการไปได้ 2-3 ปี พ่อก็ป่วย เป็นมะเร็ง พี่ก็เลยถูกเรียกตัวกลับมาดูแลคุณพ่อ แล้วก็ทำงานแทนพ่อด้วย ตอนนั้นคุณแม่ทำบัญชีอย่างเดียว เลยต้องกลับมาช่วยกัน น้องสาวก็กลับมาด้วย

ตอนนั้นเหนื่อยมาก แล้วก็เครียดมากเลยด้วย คือพ่อมี passion อยากทำงาน แต่ร่างกายไม่ไหว เวลาไปขายของพี่ก็เห็นแล้วสงสารพ่อมาก คือใครเห็นก็รู้ว่าป่วยอ่ะ แต่ก็ต้องพาพ่อไปด้วย เพราะว่าถ้าพ่อไม่ไปก็จะขายไม่ได้ จนหลังๆพ่อไปไหนไม่ไหวก็นอนพักอยู่บ้าน พวกเราไปทำงานกลับมาก็ค่อยมาเล่าให้พ่อฟัง แกก็จะถามๆๆเยอะเลย ใจน่ะ อยู่โรงงานตลอด

 

“ตอนนั้นรู้สึกยังไงคะ“

เครียดแล้วก็เหนื่อยมาก คือต้องดูแลพ่อ พาไปหาหมอ แล้วก็ต้องรับงานต่อ โชคดีที่ว่าครอบครัวพอจะหาเงินได้ก็เลยซื้อโรงงานจากหุ้นส่วนมาทั้งหมด เพราะคุณพ่ออยากให้มันเป็นธุรกิจครอบครัว

แล้วจังหวะนั้น พ่อไม่ไหว แต่ใจเกินร้อย พอกลับบ้านมาเลิกงานเหนื่อยๆ พ่อก้อเอาแต่ถาม ก็เลยมีทะเลาะกันบ้าง ตอนนั้นไม่ไหวจริงๆ

จุดนั้นโรงงานยังตั้งหลักไม่ได้ มันเพิ่งเริ่ม ก็เจอปัญหาโน่นนี่นั้นสารพัด เงินก็ไม่มี แล้วก็มีความเห็นไม่ตรงกับพ่อหลายเรื่องนะ คือพ่อเค้าจะถนัดงานขาย เน้นขาย ว่าทำแบบนี้ขายได้ แบบนี้ขายไม่ได้ แต่พี่ไปเห็นการผลิตมา ว่าแบบนี้ต้นทุนจะสูงนะ แล้วพ่อจะขายเท่านี้จะเอากำไรจากไหน ส่วนพ่อก็คิดว่าขายให้ได้ก่อน ขายไปก่อน กำไรค่อยว่ากัน

พี่มาถึงก็ลงระบบก่อนเลย เขียนโปรแกรมคุมการผลิตให้เหมาะกับเรา คือเราเริ่มพัฒนาด้วยการที่เราไม่ต้องลงทุนเป็นตัวเงิน พ่อก็เลยเริ่มยอมรับเรามากขึ้น พอมันใช้งานได้แล้ว พ่อก็เริ่มปล่อย

พี่ก็ลุยงานหนักเลยนะ ทำทุกอย่างเลย จนเริ่มตั้งหลักได้ ก็เจอน้ำท่วม...ถึงนี่” พูดพลางเอามีอทำระดับอยู่กลางอก

“โหย แล้วของพี่เป็นกระดาษ”

ใช่ เลยย้ายหนี ไปตั้งที่ใหม่เลย ตอนแรกอยู่รังสิต เลยได้ย้ายไปสมุทรปราการ คราวนี้น้ำไม่มาแต่ปัญหามา

“อะไรคะ”

คน คนไม่มา บางคนก็ว่าไกล อ่ะ พอเข้าใจ บางคนย้ายไปตรงนั้น ใกล้บ้านเค้ามากกว่า แต่สุดท้ายก็ออก แล้วที่ว่าออกนี่สุดท้ายไม่เหลือเลยนะ แม้กระทั่งพนักงานบัญชี

แต่พี่มีจุดอ่อน คือไม่ค่อยจะรู้เรื่องบัญชีเท่าไหร่ พอดียังมีความโลคดีในความโชคร้าย คือได้คุณป้าที่เป็นญาติสนิทกันมาช่วยดูแลให้ และแกก็เก่งมากๆ ทำให้ตอนนี้พอจะได้โล่งอกกับเค้าบ้าง

ตอนแรกนะ ที่ป้าเค้าเข้ามาช่วยดูให้ แป๊ปเดียวก็แจงบัญชีมาให้ดู โหว นี่ต้นทุนเรา 75% เลยนะ แต่ทำไมตอนเราคำนวนเองได้ 45-50% เอง เพราะพ่อพี่ตั้งไว้ห้ามเกิน 55% ไง พี่ก็ว่าพี่คำนวณอย่างดี แต่เค้าก็เข้ามาดูแล้วบอกว่าตรงนี้ก็ต้องคิดนะ ตรงนี้ต้องคิดแบบนี้ แล้วพอแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนได้นะ เราลอยลำเลย

 

“แล้วในงานในโรงงานล่ะคะ เห็นบอกว่าคนออกหมด”
ก็ทำเองหมด เป็นความโชคดีสองชั้นที่มาถึงวันนี้ได้ ตอนนี้โรงงานอยู่ตัวแล้ว ระบบเข้าที่ คนเข้าที่ คุณแม่เริ่มเข้าวัดฟังธรรม มีเวลาไปเที่ยวกับเพื่อนบ้าง แต่...คุณพ่อไม่อยู่แล้ว

ถ้าถามว่าวันนี้เสียดายอะไรที่สุด ก็คงจะเสียดายที่คุณพ่อไม่ได้อยู่เห็นวันที่โรงงานของเค้าตั้งหลักได้ ท่านเสียก่อนหน้านั้นไม่นานเอง พี่เสียใจแล้วก็เสียดายมากๆแต่ก็ทำอะไรไม่ได้

 

”แล้ว Flow house นี่มาได้ยังไงคะ ?”

ที่นี่เป็นที่คลายเครียด เวลาทำงานเหนื่อยๆ มาเล่น surf ที่นี่ มาเจอเพื่อนๆที่นี่ เค้าเปิดให้อยู่ได้ถึงดึกๆ เราก็ยึดเอาที่นี่เป็นที่พักผ่อนเลย จนวันนึงเจ้าของเดิมเค้าบอกว่าเค้าจะขาย พี่ก็เลยหุ้นกับเพื่อน ขอซื้อต่อ แต่ก็บอกเค้าว่าเราไม่มีเงินนะ เถ้าแก่ก็ใจดี ขายให้ถูกมากๆ ก็เลยเข้ามาบริหารที่นี่ต่อหลังจากนั้น ตอนนี้ก็ได้ปีนึงละ

 

“บริหารที่นี่เหมือนโรงงานมั้ยคะ”

ไม่ๆ ที่นี่คือหุ้นกับเพื่อน ตอนแรกก็ทำเหมือนที่โรงงาน คืออยากบริหาร แต่เพื่อนก็อยากบริหาร แล้วต่างคนก็ต่างความคิดเนอะ หลายคนด้วย ไม่ใช่แค่สอง ก็เลยไปใหญ่เลย ทะเลาะกับ แค่เรื่องเล็กๆยังทะเลาะกันอ่ะ คิดดู อย่างไอตรงซุ้มขายน้ำนี่ จะเอาแบบไหนยังเถียงกันจะเป็นจะตาย แต่ละคนก็มี logic มีเหตุผลของตัวเอง

ตอนหลังก็เลย ไม่ละ อย่าทะเลาะกันเลย พอดีมีหุ้นส่วนคนนึงที่เป็นผู้จัดการคนเก่าของที่นี่ ก็เลยยกให้เค้าบริหารหมดเลย เราก็แค่มาช่วยโน่นช่วยนี่ตามเรื่อง คราวนี้เลิกทะเลาะกันละ สบายอีกตะหาก เพราะเรารู้แล้วว่า ถ้าเกิดอะไรมันผิดพลาด ก็จะไปดุคนไหน ฮ่าๆ จากการทำที่นี่เลยรู้ว่า ผู้บริหาร ควรมีคนเดียวพอ จบ

 

“พี่มี passion มั้ยคะ”

มีสิ ตอนเด็กๆชอบเล่นเกมส์ อยากทำเกมส์ เลยไปเรียน programmer ไง

 

“แล้วตอนนี้ไม่ได้ทำตาม passion นั้นแล้ว ต้องทำโรงงานคุณพ่อ อึดอัดมั้ย ?”

ไม่เลย พี่มีวิธีคิดอยู่ว่า ไอการทำเกมส์เนียะ มันจะได้เงินเยอะมั้ยก็ไม่รู้นะ แต่ของพ่อเนียะ ยังไงลุยขึ้นมาพอมันตั้งหลักได้ ยังไงก็เป็นของเรา แล้วพอเรามีเงินแล้ว มีเวลา ก็ค่อยไปนั่งเล่นเกมส์ ไม่เครียดด้วยเพราะไม่ต้องหาเงินจากเกมส์ ก็จะเล่นมันด้วยความบันเทิงอย่างแท้จริง

 

“ตอนนี้คือมีเวลาเล่นเกมส์แล้ว ?”

ยัง ฮ่าๆ ตอนนี้ได้แต่เปิดยูทูปดูคนเค้าเล่นกันไปก่อน

 

“แล้วน้องสาวพี่ ทำงานด้วยกันมั้ยคะ”

ไม่ รายนั้นสายอาร์ต ตอนพ่อป่วยก็เข้ามาช่วยอยู่พักนึง จนพ่อเสีย ก็ออกไปเปิดของตัวเอง เป็นโรงงานที่ใช้กระดาษในการทำของเล่นแมว ตอนนี้ก็เริ่มตั้งตัวได้ละ

 

“พี่คิดว่าอะไรเป็นปัญหาที่ยากที่สุดในการรับโรงงานครอบครัวคะ”

คน คน แล้วก็คน มีปัญหาสุดๆแล้ว ไม่ว่าคนนั้นจะอยู่เหนือกว่าเรา อย่างพ่อแม่ หรือลูกน้องที่อยู่ใต้บังคับบัญชาเรา คือด้วยความที่ทุกคน เป็นคน มีความคิดอะไรของตัวเอง ต่างคนก็ต่างคิด แล้วทั้งหมดนั่นก็เลยกลายมาเป็นก้อนปัญหาเลย ถ้าจัดการเรื่องคนได้นะ ทุกอย่างก็จบ

คุณพ่อสอนพี่อยู่อย่างนึง คือเราจะไล่ใครออกก็ได้ แต่เราต้องทำงานแทนคนนั้นได้ หรือมีคนมาทำแทนคนนั้นในทันที ถ้าทำไม่ได้ ก็ไล่ออกไม่ได้ ก็ต้องแก้ไขสถานการณ์กันไปว่าเค้าทำผิดอะไร อบรมตักเตือนกันไปก่อน

แต่มันก็มีอีกกรณีนึงนะ พี่เห็นบริษัทนึงเวลาไปส่งของให้อิเกีย ส่งของมากมายเลยนะ เป็นเจ้าใหญ่เลย แต่บิลทุกใบของเค้าเขียนมืออยู่เลย แถมลายมือก็สวยมากๆ ปรากฏว่า พนักงานเหล่านั้นก็เป็นป้าแก่ๆ ยายแก่ๆ ที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการสร้างบริษัทนั้นขึ้นมา เจ้าของก็เลยยังคงใช้วิธีแบบเดิมอยู่ เพื่อให้คนแก่ที่เปรียบเสมือนแขนขาของบริษัทนั้น ยังมีงานทำ เค้าจะรอจนคนแก่เหล่านั้นทำงานไม่ไหว ถึงจะเปลี่ยนมาใช้คอมฯ พี่ว่านี่ก็เป็นไอเดียที่น่ารักมากๆเลย

 

“วิธีจัดการล่ะคะ ?”

ก็ทำดีไว้ก่อน คิดดีทำดี เดี๋ยวก็ได้ดีเองแหละ ไม่ต้องคิดมาก


“อยากฝากอะไรถึงรุ่นน้องๆที่กำลังรับช่วงกิจการอยู่ตอนนี้มั้ยคะ”

ต้องฟังผู้ใหญ่ ฟังคนแก่ ฟังประสบการณ์ แล้วลองทำตามก่อน มันไม่ได้เสียหายอะไรมากมายหรอก คุณพ่อชอบพูดว่า เวลาไปหาผู้ใหญ่ ให้เอากระดาษไปด้วย เอากระดาษไปห่อความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดของเขามา แล้วกลับมาบ้านค่อยมานั่งเลือกอีกทีว่าอันไหนจะใช้ไม่ใช้

เอ้า ถึงเวลาแล้ว ไปเล่นน้ำได้แล้วไป เจ้าหน้าที่เค้าเรียกแล้วน่ะ

 

หลังจากฟังเรื่องราวสุดโลดโผนทั้งหมดนั่น ก้มลงมองนาฬิกาก็พบว่าเพิ่งจะ 20 นาทีเท่านั้นเอง พี่ชายคนนี้มีความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวได้เก่งจริงๆ

แล้ววันนี้เราก็กลับบ้านมาด้วยอาการขาสั่นๆ แขนสั่นๆหน่อยๆ เพราะลองเล่น surf board แล้วก็ล้มกลิ้งไปหลายรอบอยู่กลางกรุงเทพฯนี่เอง


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “ฉันนี่แหละลูกเถ้าแก่” ข้อคิดและบทสรุปจากการสัมภาษณ์ทายาทธุรกิจ โดย พราวพร


บทความที่คล้ายกัน