SMEsAcademy-FB
รับส่วนลด 300 บาทสำหรับการซื้อครั้งแรก

เรื่องเล่า Passion นักบริหารโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้

13 กรกฎาคม 2564
เรื่องเล่า Passion นักบริหารโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้

เรื่องเล่า Passion นักบริหารโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้

“ถ้าไม่สูงต้องเขย่ง ถ้าไม่เก่งต้องขยัน”

DEESAWAT by P’Jiro


หลังจากฝ่าการจราจรมหาโหดบนนถนนแจ้งวัฒนะเข้าไปถึงแยกหลักสี่แล้วก็จะได้พบกับโชว์รูมกระจกใสที่ด้านในเต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ดีไซน์สวยงาม วางเรียงรายโชว์ความโดดเด่นของตัวเองอยู่ด้านหน้าบริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด อีกหนึ่งธุรกิจครอบครัวที่มีประวัติความเป็นมาที่โลดโผนน่าติดตาม


พี่จีโร่ (คุณจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์) นายกสมาคมธุรกิจไม้ ประธานผลิตภัณฑ์ไม้ Asian อุปนายกสมาคมเครื่องเรือนไทย ประธานกลุ่มสมาคมการค้า Life style และ Design นั้น เป็นผู้ที่มีบทสัมภาษณ์มากมายทั้งใน youtube ในหนังสือพิมพ์ ในบทความต่างๆ ซึ่งต่างก็เล่าประวัติอันตื่นตาตระการใจ ตั้งแต่การเข้ามารับช่วงกิจการของครอบครัวอย่างกระทันหันเนื่องจากคุณพ่อเสียชีวิตในวัยเพียง 20 ปี ไปจนถึงการถือกระเป๋าแบ็คแพ็คไปงานแฟร์ที่เยอรมันคนเดียวเพื่อเจรจาขายของ หรือการเปลี่ยนแนวการทำงานของโรงงานจากเฟอร์นิเจอร์ฝังมุก มาเป็นเฟอร์นิเจอร์สนามโดยเริ่มต้นจากศูนย์ ในวันนี้ เราเลยจะมาถามเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องที่หาได้จากใน youtube กัน

 

“พี่จีโร่มองว่าธุรกิจครอบครัวจะประสบความสำเร็จได้ยังไงคะ” เนื่องจากพี่จีโร่เป็นนักกิจกรรมและนักพูด วันนี้เราเลยมานั่งฟังเสียเป็นส่วนใหญ่ 

“ธุรกิจครอบครัวนี่มันก็มีหลักแค่สองอย่าง คือคุยกันให้เข้าใจ และแบ่งกันให้ลงตัว คือจะมีกี่รุ่น กี่ generation ในครอบครัวก็แล้วแต่ ต้องคุยกันให้เข้าใจสื่อสารกันให้รู้เรื่อง ผู้ใหญ่ต้องให้โอกาส ต้องเข้าใจเด็ก แล้วคนหนุ่มสาวก็ต้องพยายามเข้าใจผู้ใหญ่ แล้วก็ใจเย็นๆด้วย

ส่วนเรื่องแบ่งกันให้ลงตัวนี่ คือเริ่มต้นจากการแบ่งงาน งานต้องชัดเจน คือรุ่นแรก แค่พ่อกับแม่ ไม่เป็นไร รุ่น 2 พี่น้องอย่างเดียว ถ้าเขยสะใภ้ไม่เกี่ยว ปัญหาไม่ใหญ่ ก็เคลียร์กันเองได้ แต่ปัญหามันจะเกิดเมื่อมีหลาย Generation อยู่ในบ้านเดียวกัน มีเขย มีสะใภ้มาทำงานในกงสีเดียวกัน ลูกเมียน้อยป้ากับลูกเมียหลวงลุง จะคุยกันรู้เรื่องไหม มันก็ต้องมีการเขียนสิ่งที่เรียกว่า ธรรมนูญครอบครัว หรือ Constitution เป็นตัวไกล่เกลี่ย

 

Constitution ถือเป็นกฏหมาย คือกฏเกณฑ์ที่ทั้งครอบครัวมีส่วนร่วมในการจัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นที่ยอมรับและเข้าใจตรงกันของทุกคนในครอบครัว เช่น คุณแต่งงานไปแล้วย้ายออกไปอยู่ข้างนอก บ้านคุณต้องซื้อด้วยเงินตัวเองนะ แต่ค่ารถ ค่าน้ำมัน ค่าคนใช้ในบ้าน สามารถเอามาเบิกกงสีได้ อะไรแบบนั้น เป็นการเขียนให้เข้าใจตรงกันทั้งครอบครัวว่าเรื่องนี้เราจะแบ่งอย่างนี้นะ เรื่องนั้นเราจะแบ่งแบบนี้นะ หรืออย่างค่าการศึกษาลูก กงสีออกให้หมด จะเรียนแพงเรียนนอก เรียน NASA มีลูกกี่คนเราออกให้ ทีนี้สมมติลุงมีลูกคนเดียวเรียน ปวส น้ามีลูก 10 คนเรียนอเมริกาหมดนี่ ลุงก็จะมาโกรธน้าไม่ได้ อะไรทำนองนี้

 

Constitution นี่จริงๆรุ่น 2 ก็ต้องมีละนะ แต่อาจจะอยู่ในรูปแบบปากเปล่า มีในใจ เข้าใจกันเองไม่ได้เขียนจริงจังแบบเป็นลายลักษณ์อักษร ใช้นักกฏหมายอะไรขนาดนั้น อย่างเช่น การแบ่งเงินเดือน พี่คนโตนี่ก็เกิดมาก่อนใช่มั้ย ก็ทำงานมานานกว่าน้อง หลายๆบ้านก็ตั้งแต่ 5-6 ขวบ พอโตขึ้น เงินเดือนเท่าน้องได้ไหม บางคนก็ไม่โอเคนะ พี่ต้องได้เยอะกว่า บางคนฝาแฝด แต่คนนึงไม่ทำงาน จะให้เงินเดือนเท่ากันยอมไหม แต่สำหรับครอบครัวพี่เราไม่ได้คิดแบบนั้น เราแค่เกิดก่อน เลยเริ่มก่อน น้องเริ่มทีหลังแต่ก็อาจจะเลิกทีหลังมั้ย ตอนโตน้องอาจจะทำได้มากกว่าพี่ก็ได้ เราก็เลยเงินเดือนเท่ากันหมดเลย ทั้งหมดเป็นเรื่องของใจ การ Compromise ในระหว่างพี่น้อง

 

ใน Constitution นี่หลักๆ ก็จะต้องมีเรื่องเงินเดือน, เงินปันผล หรือโบนัส, หุ้นบริษัท, อำนาจการตัดสินใจ และการบริหารกงสี ส่วนเรื่องอื่นๆก็แล้วแต่ครอบครัวจะเขียน ค่าจ้างเขียนที่แพงมากนะ อาจจะหลักล้าน”


“พี่มีเคสครอบครัวที่มีปัญหาเล่าเป็นตัวอย่างให้ฟังมั้ยคะ”

“มี ครอบครัวนึง คือตอนนี้รุ่น 3 ละ รุ่น 2 นี่ก็แยกกันไปทำงานบริษัทของตัวเองกันหมดแล้วนะ แต่คนที่พี่รู้จักเค้าเป็นคนรับโรงงานซึ่งเป็นที่แรกที่รุ่น 1 ก่อตั้งขึ้นมา ทีนี้ ลูก 10 คน 10 ครอบครัว มีหุ้นอยู่ในโรงงานหมดเลย ทั้งๆที่ต่างคนต่างมีกิจการใหญ่โตของตัวเองกันหมดแล้วเนียะแหละ คนที่พี่รู้จักที่เป็นรุ่น 3 เค้าก็พยายามเข้ามาบริหารจัดการใช่มะ ทีนี้พอช่วงเศรษฐกิจไม่ดี โรงงานก็ขาดทุน เครื่องจักรก็เก่า เริ่มตกรุ่น สินค้าขายไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีไม่ทันเค้านี่ คนนั้นเค้าก็เลยขอระดมทุน ขอเพิ่มทุน ขอปรับปรุง อย่างน้อยก็ซื้อเครื่องจักรใหม่ แต่หุ้นส่วนทั้งหลาย ซึ่งตอนนี้ก็อายุประมาณ 70 แล้วนะ ไม่มีใครอนุมัติเลย ปันผลรับ แต่ขาดทุนไม่เอา ก็เลยทำอะไรไม่ได้เลย ตอนนี้ก็เลยนั่งปวดหัวอยู่”

 

“โห แย่เลยนะคะ กลับมาที่ครอบครัวพี่บ้าง คุณพ่อพี่เสียนานแล้ว คุณแม่พี่ยังทำงานอยู่ไหมคะ แล้วครอบครัวพี่แบ่งงานกันยังไง”

 

“แม่เป็น M.D. ไง พี่ถึงเป็นรองประธานฯ ฮ่าๆ แต่คุณแม่ไม่ค่อยยุ่งเรื่องการบริหารเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะดูเรื่องเงินมาตั้งแต่ต้น ขายได้ไม่ได้อะไรยังไง ส่วนเรื่องพี่น้องนี่งานก็แบ่งไม่ค่อยชัดเจน ก็มีแบ่งกันตามแผนกบ้าง โซนลูกค้าบ้าง แต่ทุกคนทำแทนกันได้ และทุกคนก็อยู่ในตำแหน่งสำคัญของบริษัทฯ เพราะไม่มีใครไว้ใจได้เท่าคนในครอบครัวอยู่แล้ว”


“มีปัญหากับลูกน้องเก่าคุณพ่อมั้ยคะช่วงแรกๆ”

“โอ้โห หัวหน้าแต่ละคนอีโก้สูงมากอย่างกับยักษ์ มีลุงคนนึง พี่เดินเข้าโรงงานไป แกก็นั่งไขว้ห้างกระดิกเท้าอยู่ หันมามองด้วยหางตาแล้วบอกว่า ‘มาแล้วเรอะ ผมรอคุณอยู่’ พี่ก็แบบ เฮ้ย! เค้าต้องเป็นฝ่ายเข้ามาหาเราสิ เราเป็นเจ้านายนะ”

 

“แล้วทำไงคะ”

“แต่คนอีโก้สูงนี่นะ จัดการง่ายมาก ลุงคนนี้นะ เค้าบอกว่าเค้าเป็นช่างที่เก่งที่สุดในประเทศไทยละ พี่ก็เอาแบบที่ลูกค้าออกแบบโยนให้เค้าทำเลย ทีนี้แกก็ว่าลูกค้าเขียนแบบอะไรห่วยมาก แกก็แก้แบบลูกค้าหมดเลย ออกมาสินค้าลูกค้าไม่มีเค้าเดิมเลย ลูกค้าก็โวยวาย พี่ก็โวยวาย ลุงแกก็เลยโมโห เออ! ลาออกก็ได้! พี่ก็รีบเซ็นปุ๊ปเลย”

 

“แล้วเค้าก็ออกเลยหรอคะ”

“ทำไงได้เซ็นไปแล้ว ตอนหลังมีมาบอกว่าโห ตอนนั้นน่าจะยื้อ แต่แพ้ภัยตัวเอง”


“นอกจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องไม้ เรื่องเฟอร์นิเจอร์แล้ว พี่จีโร่มี Passion อย่างอื่นมั้ยคะ”

“โรงเรียนไง พี่อยากสร้างโรงเรียน คือเรื่องมันเริ่มจากว่า เมื่อก่อนพี่อยากหาอะไรทำให้ยุ่งๆ (ดูเหมือนว่าจะยังยุ่งไม่พอ) พี่ก็เลยสมัครไปเข้าโครงการ CISV (Children International Summer Village)* ตอนนั้นค่ายนี่ยังเป็นเหมือนค่ายลูกเสืออยู่เลย ประมาณปี 1990 มีตีกลองตุ่งแช่ นอนเต๊นท์เบียดๆกัน พี่ก็ไปสมัครเป็น Leader** ใช่มะ ก็ได้รับคัดเลือกให้ไปต่างประเทศ พอไปถึงแล้ว โอ้โห ต่างประเทศทำไมดีกว่าเราเยอะ ทำไมของเรากระจอกจังเลย พอดีพี่กลับมา คุณแม่เพ็ญพรรณ เสีย พี่ก็เลยเข้ามาช่วยทำโครงการ ซึ่งมันทำให้พี่รู้สึกว่า เออ ทำแบบนี้แล้วมีความสุขจัง ได้อยู่กับเด็กๆ เล่นกับเด็กๆ ได้สอนเด็กๆ แล้วก็เลยมีความรู้สึกว่าระบบการศึกษาเรามันยังมีช่องว่างที่สามารถพัฒนาได้อยู่นะ ก็เลยอยากทำโรงเรียน ตั้งแต่อนุบาลเลย จน ม.4 จะไม่มีใครอยู่โรงเรียน ให้ไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศปีนึง คุณอยากไปไหนบอกเลย โรงเรียนจัดการให้ แล้วเด็กในโรงเรียนสามารถไป CISV ได้ทุกปีโดยไม่ต้องลาออก ฮ่าๆ”

 

“โหพี่ โรงเรียนในฝันเลย ตอนหนูไป CISV นี่แทบย้ายโรงเรียน เพื่อนๆหลายคนโดนไล่ออกย้ายโรงเรียนกันเป็นแถวเลย ว่าแต่โรงเรียนพี่มีถึงมหาวิทยาลัยเลยมั้ยคะ”

“ก็ถ้าเปิดไปแล้วเด็กเราไปเรียนที่อื่นต่อไม่ได้ ก็คงจะเปิดมหาวิทยาลัยด้วย ฮ่าๆ”


“แล้วพี่แบ่งเวลาระหว่างธุรกิจครอบครัวกับ Passion ยังไงคะ”

“นั่นล่ะปัญหา ฮ่าๆ ทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่ แบ่งเวลาไม่ค่อยจะได้ แต่ก็พยายามทำทั้งสองอย่างให้ดีที่สุดล่ะนะ”

 

“แล้วเรื่องเงินล่ะคะ Passion พี่นี่ดูใช้เงินเยอะมาก”

 

“พี่จะใช้เงินเก็บเปิดบริษัทฯใหม่ หาเงิน แล้วก็เอาเงินตรงนั้นมาทำโรงเรียน เผื่อเวลามีปัญหาจะได้ไม่ส่งผลกระทบต่อพี่น้อง ส่วน CISV นี่มันสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว ไม่ได้ใช้เงินเลย”


“สุดท้ายๆ ขอคำแนะนำเด็กๆหน่อยค่ะ”

“ถ้าไม่สูงต้องเขย่ง ถ้าไม่เก่งต้องขยัน แล้วก็ต้องมองสูงมากๆ ตั้งเป้าสูงและพยายามไปให้ถึงดวงจันทร์ เพราะถึงเรามีเป้าที่ดวงจันทร์ แต่เวลาพลาดเป้าก็ยังเคว้งคว้างอยู่ท่ามกลางดวงดาว”


*Children International Summer Village (CISV) หรือโครงการหมู่บ้านฤดูร้านเด็กนานาชาติ เป็นโครงการเพื่อสันติภาพของโลก ซึ่งมีการนำเด็กๆในแต่ละช่วงอายุมาเข้าค่ายรวมกัน กินอยู่ด้วยกัน เพื่อเป็นเพื่อน เพื่อเรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน โดยโครงการนี้มีเป้าหมายว่าเมื่อเด็กๆเหล่านี้โตขึ้น มีตำแหน่งใหญ่โตทางสังคม จะช่วยให้สังคมโลกสงบสุขขึ้น เพราะอย่างน้อย แทบทุกประเทศก็ยังมีครอบครัว มีเพื่อนของตนอาศัยอยู่

(โครงการนี้รับเด็กอายุ 11 ปี ขึ้นไป สามารถสอบถามรายละเอียดและใบสมัครได้ที่ www.cisv.or.th)


**Leader คือผู้นำเยาวชน เป็นวัยรุ่นอายุ 20 ปีขึ้นไป เป็นผู้นำคณะเด็กๆที่ได้รับการคัดเลือกเดินทางไปเข้าค่ายที่ประเทศต่างๆเป็นเวลา 1 เดือน

Contact: https://www.facebook.com/deesawat/


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ “ฉันนี่แหละลูกเถ้าแก่” 

ข้อคิดและบทสรุปจากการสัมภาษณ์ทายาทธุรกิจ โดย พราวพร 


บทความที่คล้ายกัน